ใจความสะกิดใจ คำบรรยายกฎหมายอาญา ม.59-106 อ.เกียรติขจร_W03_10-06-59_ปกติ

สัปดาห์ที่ 3


วันนี้ขึ้นหัวข้อ 1.2 ซึ่งการกระทำครบองค์ประกอบภายนอกของความผิดในเรื่องนั้นๆ

ความผิดอาญาแต่ละฐานส่วนใหญ่แล้วเราสามารถจะแบ่งองค์ประกอบภายนอกออกได้เป็น 3 ส่วนคือ
ส่วนที่ 1 คือผู้กระทำ
ส่วนที่ 2 คือการกระทำ
ส่วนที่ 3 คือวัตถุแห่งการกระทำ

ส่วนที่ 1 "ผู้กระทำ"
ผู้กระทำความผิดอาญาแบ่งแยกได้เป็น
 1. ผู้กระทำความผิดเอง
ผู้กระทำความผิดเองหมายความว่า ผู้นั้นได้กระทำความผิดโดยตรง รวมถึงการใช้สัตว์เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด นอกจากนั้นการใช้บุคคลผู้ไม่มีการกระทำ เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด ผู้ใช้ดังกล่าวก็เป็นผู้กระทำความผิดเอง
 2. ผู้กระทำความผิดเองโดยอ้อม
ผู้กระทำความผิดเองโดยทางอ้อมมีมากมายหลายรูปแบบด้วยกัน แต่รูปแบบหนึ่งที่หยิบยกขึ้นมาเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างกับผู้ใช้ตามมาตรา 84 คือรูปแบบดังต่อไปนี้
ผู้ที่ใช้หรือบุคคลที่มีการกระทำตามมาตรา 59 ให้กระทำความผิด โดยผู้ถูกใช้หรือถูกหลอกไม่ต้องรับผิดฐานกระทำโดยเจตนา เพราะไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดนั้นๆ
มีข้อสังเกตว่า ผู้กระทำความผิดเองโดยอ้อมมีได้เฉพาะ ในความผิดที่กระทำโดยเจตนาเท่านั้น ความผิดที่กระทำโดยประมาทไม่มีผู้กระทำความผิดเองโดยอ้อม
 3. ผู้ร่วมในการกระทำความผิด
ผู้ร่วมกระทำความผิดได้แก่ ตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน
การใช้ให้กระทำความผิดตามมาตรา 84 จะเกิดขึ้นได้ผู้ถูกใช้ต้องกระทำความผิดนั้นๆ โดยเจตนาซึ่งหมายความว่า ผู้ถูกใช้จะต้องรู้ว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด

สรุปข้อแตกต่างระหว่างผู้กระทำความผิดเองโดยอ้อมกับผู้ใช้ตามมาตรา 84
- ผู้กระทำความผิดเองโดยอ้อม (เฉพาะประเภทหลอกให้ผู้ถูกหลอกซึ่งไม่มีเจตนาไปกระทำ) มีหลักดังนี้
 1. มีเจตนากระทำความผิด
 2. มีเจตนาหลอกให้ผู้อื่นกระทำความผิด
 3. ผู้ถูกหลอกไม่มีเจตนากระทำความผิด

- ผู้ใช้ตามมาตรา 84
 1. มีเจตนากระทำความผิด
 2. มีเจตนา(ก่อ)ให้ผู้อื่นกระทำความผิด
 3. ผู้ถูกใช้(ผู้อื่น)มีเจตนากระทำความผิด
ข้อสังเกต ผู้กระทำความผิดเองโดยอ้อมที่กล่าวมาข้างต้นเป็นรูปแบบหนึ่งเท่านั้น

ส่วนที่ 2 “การกระทำ”
การกระทำตามข้อ 1 อธิบายแต่เพียงว่าเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึก
รู้สำนึกหมายถึง อยู่ภายใต้บังคับของจิตใจ แต่การกระทำที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้เป็นการกระทำที่ครบองค์ประกอบภายนอกของความผิดฐานนั้นๆ ซึ่งก็มีความหมายว่าถ้าเป็นความผิดที่กระทำโดยเจตนาการกระทำนั้นจะเป็นความผิดก็ต่อเมื่อ การกระทำนั้นเข้าขั้นลงมือ หรือเข้าขั้นพยายามตามมาตรา 80 นั้นเอง
ในความผิดอาญาที่กระทำโดยเจตนาบางฐานนั้น ก็ถือว่าเป็นการกระทำที่ครบองค์ประกอบภายนอกได้แล้วแม้ว่าการกระทำนั้นยังไม่ถึงขั้นลงมือหรือยังไม่ถึงขั้นพยายาม แม้ว่าจะอยู่ในขั้นตระเตรียมการก็ตามเช่น การตระเตรียมการฆ่าคนสำคัญ การตระเตรียมการวางเพลิงเผาทรัพย์ เป็นต้น


 ส่วนที่ 3  “วัตถุแห่งการกระทำ”
วัตถุแห่งการกระทำหมายถึง สิ่งที่ผู้กระทำมุ่งหมายกระทำต่อ เช่นความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ตามมาตรา 288 วัตถุแห่งการกระทำคือผู้อื่น ความผิดฐานลักทรัพย์ วัตถุแห่งการกระทำคือ ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

ประเด็นที่สำคัญก็คือเรื่องการครบองค์ประกอบภายนอกและการขาดองค์ประกอบภายนอก
- การครบองค์ประกอบภายนอกหมายความว่า ความจริงการกระทำของผู้นั้นครบองค์ประกอบภายนอกทุกข้อ
-การขาดองค์ประกอบภายนอกหมายความว่า ความจริงการกระทำของผู้นั้นขาดองค์ประกอบภายนอกบางข้อไป แต่ผู้กระทำเข้าใจว่าองค์ประกอบภายนอกครบ ผลทางกฎหมายคือให้ถือตามความเป็นจริง

ปิดท้าย
1.การกระทำโดยประมาทไม่มี ตัวการร่วมกันตามมาตรา 83 ถือว่าต่างคนต่างประมาท ด้วยเหตุนี้จะต้องเป็นการกระทำความผิดโดยเจตนาเท่านั้น ผู้ที่ร่วมในการกระทำจึงจะเป็นตัวการตามมาตรา 83 ได้
 2. จะเป็นผู้ใช้ตามมาตรา 84 ได้ผู้ถูกใช้ให้กระทำต้องกระทำความผิดโดยเจตนาเท่านั้น

 3. ผู้สนับสนุนตามมาตรา 86 มีได้เฉพาะการสนับสนุนผู้ลงมือซึ่งกระทำความผิดโดยเจตนาเท่านั้น ถ้าผู้ลงมือกระทำความผิดโดยประมาท ผู้ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวก ไม่ใช้ผู้สนับสนุนตามมาตรา 86
 4. ป้องกันตามมาตรา 68 จะต้องเป็นการกระทำโดยเจตนา จำเป็นตามมาตรา 67 ก็ต้องเป็นการกระทำโดยเจตนา ด้วยเหตุนี้การกระทำโดยบันดาลโทสะจะต้องเป็นการกระทำโดยเจตนาเช่นเดียวกัน
การกระทำโดยประมาทตามมาตรา  59 วรรค 4 จึงจะอ้างว่าเป็นการกระทำโดยป้องกัน จำเป็น และบันดาลโทสะไม่ได้

#สะกิดต่อมกฎหมาย
ฟังเสียงคำบรรยายได้เลย ตรงนิ ตรงนิ
https://youtu.be/4sMZJgMTJSw

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อาวุธ ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา

การรับมรดกความในคดีอาญา

หลักการแปลงหนี้ใหม่