ใจความสะกิดใจ คำบรรยายกฎหมายอาญา ม.59-106 อ.เกียรติขจร W01_27-05-59_ปกติ



สัปดาห์ที่ 1

โครงสร้างความรับผิดในทางอาญา

มาตรา 59 อยู่ในหมวด 4 เรื่องความรับผิดในทางอาญา เพราะฉะนั้น คำว่า “โครงสร้างความรับผิดในทางอาญา” เราก็ใช้ถ้อยคำมาจากตัวบท หมวด 4 ความรับผิดในทางอาญา มาตรา 59 เรื่อยไปจนกระทั่งถึงมาตรา 79

โครงสร้างความรับผิดทางอาญาในภาพรวมจะมีดังนี้ต่อไปนี้
บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อ
1.การกระทำครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติ
2.การกระทำไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิด
3.การกระทำไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษ

ในการพิจารณาว่า บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาหรือไม่นั้น ประการแรกต้องดูว่า การกระทำของบุคคลนั้น ครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติไว้หรือไม่ ถ้าครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติแล้วก็ต้องดูต่อไปว่า
การกระทำนั้นมีกฎหมายยกเว้นความผิดหรือไม่ หากไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิด ก็ต้องดูต่อไปว่า
มีกฎหมายยกเว้นโทษหรือไม่ หากไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษ
ก็หมายความว่า บุคคลนั้นจะต้องรับผิดในทางอาญา
ซึ่งเมื่อบุคคลต้องรับผิดในทางอาญาแล้ว บางกรณีก็อาจจะมี “เหตุลดโทษ” เหตุลดโทษ ก็คือกรณีที่ศาลจะใช้ดุลพินิจลดโทษให้

โครงสร้างข้อ 1
การกระทำครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติ การกระทำครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติหมายความว่า
1.1 มีการกระทำ
1.2 การกระทำครบองค์ประกอบภายนอกของความผิดในเรื่องนั้นๆ
1.3 การกระทำครบองค์ประกอบภายในของความผิดในเรื่องนั้นๆ
1.4 ผลของการกระทำสัมพันธ์กับการกระทำ ตามหลักในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล

โครงสร้างข้อ 2
การกระทำไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิด
กระทำที่ครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติตามโครงสร้างข้อ 1 หากเป็นการกระทำที่มีกฎหมายยกเว้นความผิด ผู้กระทำก็ไม่ต้องรับผิด กฎหมายยกเว้นความผิดมีผลทำให้ผู้กระทำความผิดไม่มีความผิด
เช่น มาตรา 68 ลงท้ายว่า “ผู้นั้นไม่มีความผิด” หรืออาจจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ “ผู้กระทำมีอำนาจกระทำได้”

โครงสร้างข้อ 3
การกระทำนั้นไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษ
การกระทำที่ครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติตามโครงสร้างข้อที่ 1 แม้ว่าการกระทำนั้นจะไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิดตามโครงสร้างข้อที่ 2 หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ แม้ว่าผู้กระทำความผิดจะไม่มีอำนาจจะกระทำได้ แต่บางกรณีผู้กระทำก็อาจไม่ต้องรับผิดในทางอาญาหากมีกฎหมายยกเว้นโทษ
กฎหมายที่ยกเว้นโทษ ให้แก่การกระทำต่างๆ ที่เป็นความผิดนั้น มีหลายกรณีด้วยกัน
เช่น การกระทำความผิดโดยจำเป็นตามมาตรา 67 การกระทำความผิดของเด็กอายุไม่เกิน 10 ปี และไม่เกิน 15 ปี ตามมาตรา 73 และมาตรา 74 การกระทำความผิดของคนวิกลจริตตามมาตรา 65 ผู้มึนเมาตามมาตรา 66 การกระทำความผิดตามคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมายของเจ้าพนักงานตามมาตรา 70 การกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ในบางฐานความผิดระหว่างสามีภริยาตามมาตรา 71 วรรคแรก
การกระทำที่ครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติ ถ้าไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิด ไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษ ผู้กระทำก็ต้องรับผิด

แต่บางกรณี ก็มีเหตุลดโทษให้แก่ผู้กระทำที่ต้องรับผิด เหตุลดโทษสังเกตได้จากถ้อนคำในกฎหมายที่บัญญัติว่า “ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้” ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาล
เช่น เรื่องบันดาลโทสะตามมาตรา 72 ความไม่รู้กฎหมายตามมาตรา 64 คนวิกลจริตซึ่งสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้างตามมาตรา 65 วรรคสอง คนมึนเมาซึ่งยังสามารถรับผิดชอบอยู่บ้างหรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้างตามมาตรา 66 ป้องกันจำเป็นเกิดขอบเขตตามมาตรา 69 กระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์บางความผิดระหว่างญาติสนิทตามมาตรา 71 วรรคสอง ผู้กระทำความผิดที่อายุกว่า 15 ปี แต่ต่ำกล่าว 18 ปี ตามมาตรา 75 หรือตั้งแต่ 18 ปี แต่ยังไม่เกิน 20 ปี ตามมาตรา 76 เหตุบรรเทาโทษตามมาตรา 78
กดฟังเสียงได้เลย ตรงนิ ตรงนิ ↓↓

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อาวุธ ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา

การรับมรดกความในคดีอาญา

หลักการแปลงหนี้ใหม่