ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์

 

สะกิตต่อมกฎหมาย

มาตรา 147 (เจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์)

ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษา ทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนเองหรือของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท

1. เป็นเจ้าพนักงาน

คำ ๆ นี้ ได้มีนิยามไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (16) ว่า “เจ้าพนักงาน หมายความว่า บุคคลซึ่งตามกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงาน หรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำ หรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่” จึงพิจารณาเห็นได้ว่าบุคคลที่มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มีอยู่ 2 กรณี คือ 1. บุคคลที่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะว่าให้บุคคลนั้น ๆ มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา หรือ 2. บุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยบุคคลทั้งสองกรณีไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติหน้าที่เป็นประจำ หรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม หรือกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่าความเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มีให้ 2 ลักษณะ คือ 1. เจ้าพนักงานโดยสภาพ ซึ่งหมายถึงบุคคลที่ผ่านขั้นตอนการคัดเลือกหรือสรรหาตามกระบวนการวิธีเพื่อบรรจุบุคคลให้เข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการ และได้รับแต่งตั้งตามกฎหมาย “ให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ” ในหน่วยงานราชการต่าง ๆ และ 2. ไม่ใช่เจ้าพนักงานโดยสภาพ ซึ่งหมายบุคคลที่มีกฎหมายวิธีการสรรหาบุคคลนั้นเพื่อทำหน้าที่ของราชการในตำแหน่งใด ตำแหน่งหนึ่ง แล้วได้มีกฎหมายกำหนดว่าให้บุคคลที่ทำหน้าที่ในตำแหน่งนั้น ๆ มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน แต่อย่างไรก็ตามในบางองค์กร หรือบางหน่วยงานบัญญัติกฎหมายในส่วนของตนเองให้บุคคลผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการในตำแหน่งนั้น ๆ มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายอาญา

2. มีหน้าที่ ซื้อ ทำ จัดการ รักษา ทรัพย์ (เป็นพฤติการณ์ประกอบการกระทำ)

ที่มาของหน้าที่ ซึ่งมีได้ 2 ลักษณะ คือ 1. การถูกกำหนดไว้ในขณะได้รับการบรรจุแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่นั้น ๆ หรือกฎหมายได้บัญญัติให้บุคคลนั้นมีหน้าที่อย่างไรมาตั้งแต่ต้น ซึ่งเป็นไปตามตำแหน่งของบุคคลนั้น ๆ อย่างเช่น ตำแหน่งนิติกร ก็มีหน้าที่เกี่ยวกับงานกฎหมาย สัญญา ตรวจสัญญา งานตรวจสอบข้อเท็จจริง หรืองานด้าน ๆ กฎหมายอื่น ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับภารกิจของหน่วยงานราชการนั้น ๆ หรือ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่พัสดุ ก็มีหน้าที่เกี่ยวกับการกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่การคลัง ก็มีหน้าที่เกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงิน รักษาเงิน หรือบางหน่วนงานก็มีเจ้าพนักงานจัดเก็บรายได้ ก็มีหน้าที่เกี่ยวกับการเก็บเงิน รับชำระเงิน เป็นต้น ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ประการแรกพิจารณาจากตำแหน่งของเจ้าพนักงานผู้นั้นว่ามีหน้าที่ใด ๆ และในลักษณะที่ 2 คือ การได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่นั้น ๆ เช่น ตำแหน่งนิติกร อาจได้รับคำสั่งให้ทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่พัสดุ หรือกรรมการตรวจรับ ในกรณีนี้ถือว่าได้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการตามคำสั่งแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการเพิ่มขึ้นมาจากตำแหน่งหน้าที่ราชการโดยปกติ ทั้งนี้ การแต่งตั้งให้บุคคลใดทำหน้าที่ใด ๆ การได้มาแห่งอำนาจตามกฎหมายต้องเป็นการได้มาอย่างไม่ขาดสาย หมายความว่าการที่บุคคลใดจะแต่งตั้งให้บุคคลใดมีอำนาจตามกฎหมาย บุคคลผู้แต่งตั้งนั้นต้องมีอำนาจตามกฎหมายและกฎหมายให้อำนาจในการที่จะแต่งตั้งบุคคลอื่นให้ใช้อำนาจตามกฎหมายนั้นด้วย

    การรักษาทรัพย์ตามมาตรา 147 นั้นไม่จำต้องถึงขั้นครอบครองทรัพย์นั้นก็ได้ การจัดการทรัพย์ ตรงกับการรับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินตามมาตรา 353 แต่หน้าที่ ซื้อ ทำ หรือรักษาทรัพย์นั้น การรักษาทรัพย์มีความหมายกว้างกว่าการครอบครองทรัพย์สิน ตามมาตรา 352 การครอบครองย่อมเป็นการรักษาทรัพย์ด้วยในตัว แต่การรักษาทรัพย์อาจไม่ถึงขนาดที่เป็นการครอบครองก็ได้ ถ้าเจ้าพนักงานเอาทรัพย์ที่ตนดูแลรักษาไป แม้ไม่ได้ครอบครองอยู่ในขณะนั้น กรณีเป็นลักทรัพย์ ไม่ใช่ยักยอกมาตรา 352 แต่ก็เป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 147 ซึ่งมีโทษสูงกว่าลักทรัพย์

    องค์ประกอบในข้อหน้าที่ของเจ้าพนักงาน เฉพาะที่ว่ารักษาทรัพย์ใด น่าจะตรงกับความในมาตรา 158 ในข้อที่ว่าทรัพย์อันเป็นหน้าที่ของตนที่รักษาไว้ ข้อแตกต่างระหว่าง มาตรา ๑๔๗ กับ 158 เท่าที่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์ใด เห็นจะอยู่ที่การกระทำตามมาตรา ๑๔๗ ต้องถึงขนาดเบียดบังในลักษณะยักยอก คือไปเลย และต้องมีเจตนาพิเศษ คือทุจริต แต่ตามมาตรา 158 เป็นเพียงเอาไปเสีย ไม่จำต้องเบียดบังเอาไปเลยและไม่ต้องมีการทุจริตอันเป็นเจตนาพิเศษ เมื่อเป็นความผิดตามมาตรานี้แล้ว ก็ไม่เป็นนควาผิดตามมาตรา 158 ส่วนมาตรา 151 เป็นเรื่องที่ผู้กระทำมิได้เบียดบังเอาทรัพย์ที่อยู่ในหน้าที่ หากใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ทำให้เสียหายแก่รัฐ ทำนองเดียวกับมาตรา 353

ฎ.21355/2556 จำเลยซึ่งเป็นเลขานุการตำบล และเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการและรักษาเงินงบประมาณค่าจ้างของสภาเทศบาล ล. ได้เบิกเงินงบประมาณค่าจ้างของสภาตำบล แล้วจ่ายเป็นค่าจ้างให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ค. ในขณะที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ค. ยังทำงานขุดลอกคลองไม่แล้วเสร็จตามสัญญา ทั้ง ๆ ที่องค์การบริหารส่วนตำบล ล. ยังไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ห้างฯ การกระทำของจำเลยดังกล่าว ถือว่าได้ว่าเป็นการที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการและรักษาเงินงบประมาณค่าจ้างนั้น ได้เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริตอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147

ฎ.8088/2561 เงินจำนวน 10,000 บาท ที่จำเลยในฐานะประธานศูนย์กีฬาตำบลโนนเมืองรับไปจากศูนย์การกีฬาแห่งประเทศไทยจังหวัดหนองบังลำภู เป็นเงินที่ศูนย์ฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการจัดสรรมาให้ศูนย์กีฬาตำบลโนนเมือง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์การบริหารส่วนตำบลโนนเมือง เงินดังกล่าวถือเป็นเงินของทางราชการ ที่ต้องนำส่งเป็นเงินรายได้ขององค์การบริหารส่วนตำบลโนนเมืองทั้งสิ้น กรณีมิใช่เป็นเงินที่มีผู้อุทิศให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลโนนเมืองเป็นการเฉพาะเจาะจงว่าให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังที่จำเลยฎีกา จำเลยในฐานนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโนนเมือง และประธานศูนย์กีฬาฯ ต้องทราบดีว่าจะต้องเก็บรักษาเงินดังกล่าวไว้อย่างไร การที่จำเลยอ้างว่า จำเลยมีความขัดแย้งกับ ส. ซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลโนนเมืองจนไม่สามารถจัดการแข่งขันกีฬาได้ ก็มิได้เป็นเหตุให้จำเลยมีหน้าที่หรือจำเลยต้องเก็บรักษาเงินไว้เอง การที่จำเลยเก็บรักษาเงินไว้เองโดยไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ และไม่เคยแจ้งให้คณะกรรมการศูนย์กีฬาตำบลโนนเมืองทราบ พฤติการ์ดังกล่าวของจำเลยรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยมีเจตนาเบียดบังเงินดังกล่าวเป็นของตนเองโดยทุจริต แม้ต่อมาจำเลยจะคืนเงินดังกล่าวให้แก่คณะกรรมการฯ แต่ก็เป็นเวลภายหลักจากที่มีการร้องทุกข์แล้ว จึงหาเป็นเหตุให้รับฟังได้ว่าจำเลยมิได้มีเจตนาทุจริตเบียดบังเงินดังกล่าวเป็นของตนเอง

ทรัพย์ใดที่ไม่มีกฎหมายกำหนดให้เรียกเก็บได้ เจ้าพนักงานก็ไม่มีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์นั้น เช่น เงินที่ประชาชนมอบให้เป็นค่าบริการ ไม่เป็นทรัพย์ที่เจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือรักษาไว้ จำเลยเอาเป็นส่วนตัวไปผิดตามมาตรานี้ (3410/2525) เงินสวัสดิการข้าราชการ ไม่ได้มีเจตนามุ่งหมายใช้จ่ายในทางราชการ แต่เป็นการใช้จ่ายช่วยเหลือราชการเป็นการส่วนตัว จึงมิใช่ทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือรักษาไว้ เมื่อจำเลยเบียดบังไป ไม่ผิดมาตรานี้ แต่ผิดมาตรา 152 (3031/2517) จำเลยเป็นเจ้าพนักงานที่ดินเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแล้วยึดเอาส่วนที่เกินนั้นไว้ เงินส่วนที่เกินไม่ใช่เงินของทางราชการ จึงไม่ใช่เงินที่เจ้าพนักงานมีหน้าที่เก็บหรือรักษาไว้ ไม่ผิดมาตรานี้ (1272/2506) เงินค่าบำรุงงานศพที่เจ้าภาพมอบให้เป็นสวัสดิการตำรวจ ไม่อยู่ในความหมายของคำว่า “ทรัพย์” ตามมาตรานี้ การที่จำเลยเบียดบังเงินค่าบำรุงงานศพไป ไม่ผิดตามมาตรานี้ (5964/2537)

3. การกระทำ คือ “เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่น” มีความหมายเช่นเดียวกับมาตรา 352 หมายถึง เอาไปเลยหรือเอาไปโดยเด็ดขาด เช่น รับเงินรายได้ของราชการแล้วเอาไปเลยไม่นำส่งคืนคลัง ผิดมาตรานี้ (1507/2530) เอาปืนหลวงไปจำนำจนผู้บังคับบัญชาต้องไปไถ่คืนหลังจากจำนำแล้ว 5 เดือน ผิดมาตรานี้ (1264/2518) จำเลยมาช่วยราชการที่องค์การบริหารส่วนตำบลท่าพระ โดยยังไม่ขาดจากตำแหน่งเดิมที่อำเภอหนองเรือ จึงต้องรับเงินเดือนจากต้นสังกัดเดิม แต่กลับตั้งฎีกาเบิกเงินเดือนของจำเลย ณ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าพระอีก อันเป็นการซ้ำซ้อน รวม 7 เดือน แล้วเบียดบังไปเป็นประโยชน์ส่วนตน มีความผิดตามมาตรานี้ (2236/2551) แม้เอามาคืนภายหลัก ก็ไม่ทำให้กลับกลายเป็นไม่เป็นความผิด (เทียบ 958/2534) เจ้าพนักงานตำรวจมีหน้าที่เก็บรักษาของกลางคดีอาญา เบียดบังเอากัญชาของกลางไป ผิดมาตรานี้ (2729/2532)

ความผิดตามมาตรา 147 เป็นกรรมเดียวหลายบทกันความผิดตามมาตรา 157 ลงโทษมาตรา 147 บทหนักที่สุด เช่น จำเลยได้รับแต่งตั้งให้รักษาการตำแหน่งสมุห์บัญชีอำเภอ มีอำนาจหน้าที่จัดเก็บภาษีส่งคลังจังหวัด เมื่อรับเงินค่าภาษีแล้วต้องออกใบเสร็จรับเงินให้ผู้ชำระเงินบางราย จำเลยไม่ออกให้บางรายให้ไม่ตรงตามจำนวนเงินที่รับไว้แล้วเบียดบังเอาเงินนั้นไป จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเบียดบังทรัพย์เป็นประโยชน์ตนโดยทุจริต มีความผิดตามมาตรา 147 ,157 เป็นกรรมเดียวหลายบท ลงโทษมาตรา 147 บทหนักที่สุด (1146/2537) จำเลยเป็นเจ้าอาวาสเบียดบังเงินซึ่งเป็นเงินที่มีผู้บริจาคให้แก่วัดผู้เสียหายมีความผิดตามมาตรา 147, 157 เป็นกรรมเดียวหลายบท ลงโทษมาตรา 147 บทหนักที่สุด (11340/2556) ถ้าปลอมเอกสารแล้วเบียดบังเอาเงินไป ก็เป็นความผิดในส่วนที่ปลอมนั้นด้วย เช่น เจ้าหน้าที่การเงินของโรงเรียนปลอมสัญญารับรองการยืมเงินของบุคคลอื่นแล้วเบียดบังเอาเงินไป ผิดมาตรา 147 และผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานกระทำปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น ตามมาตรา 161 กรรมเดียวหลายบท ลงโทษมาตรา 147 บทหนักที่สุด (2823/2541)

4. องค์ประกอบในส่วนของการกระทำอีกประการหนึ่ง คือ “ยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย” ความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์มีความหมายกว้างกว่าฐานยักยอกทรัพย์ตามมาตรา 152 เพราะแม้แต่เจ้าพนักงานยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นไป ก็เป็นความผิด เช่น จำเลยเป็นนายสิบทหารทำหน้าที่จ่ากองร้อยมีหน้าที่รักษาทรัพย์ในคลัง ยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์ในคลังไปผิดมาตรานี้ (534/2491) พลทหารมีหน้าที่ขับรถ ยอมให้ผู้อื่นดูดเอาน้ำมันไปผิดมาตรานี้ (341/2512)

5. วัตถุแห่งการกระทำ คือ “ทรัพย์” ไม่จำเป็นต้องเป็นทรัพย์ของทางราชการแล้ว เช่น จำเลยรับเงินค่าธรรมเนียมซื้อขายที่ดินแล้ว ไม่นำส่งฝ่ายการเงิน แต่เอาไปเป็นของตนเอง ผิดมาตรานี้ (3224-3225/2527) แม้เงินค่าตอบแทนผู้เยาว์จะไม่ใช่เงินของทางราชการ แต่จำเลยซึ่งเป็นพนักงานคุมประพฤติรับไว้ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์นั้น เมื่อเบียดบังไปโดยทุจริต ผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ (205/2554) แม้เป็นเงินนอกงบประมาณและเป็นของหน่วยงานอื่น แต่จำเลยมีหน้าที่รักษาเงินนั้น เมื่อจำเลยเบียดบังเอาไป มีความผิดตามมาตรานี้ (7797/2538)

    6. องค์ประกอบภายใน คือ เจตนาธรรมดาและเจตนาพิเศษโดยทุจริตตามมาตรา 1 (1) เช่น จำเลยไม่เก็บเงินประกันตัวผู้ต้องหาไว้ในตู้นิรภัยตามระเบียบ แต่เอาไปฝากที่สาว เมื่อถูกตรวจสอบพบ อีก 2 – 3 วัน จึงนำมาคืน ถือว่ามีเจตนาทุจริต ผิดมาตรานี้ (473/2527) หากทางราชการได้ประโยชน์จากการกระทำดังกล่าว ไม่ถือว่าจำเลยมีเจตนาทุจริต เช่น จำเลยขายซากเรือที่ชำรุดใช้การไม่ได้โดยเปิดเผยและสุจริตใจ เพียงแต่ไม่ได้ของอนุมัติขายตามระเบียบของทางราชการ แล้วจำเลยนำเงินที่ขายได้ซื้อรถตัดหญ้าในราคาสูงกว่าราคาที่ขายเรือได้ 400 บาท ให้แก่ทางราชการในทันที แสดงว่าจำเลยไม่มีเจตนาทุจริตเบียดบังเอาทรัพย์ของทางราชการเป็นของตนเองหรือผู้อื่น จึงไม่ผิดมาตรา 147 (1522/2536)

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3620/2566

หลักกฎหมาย

ป.อ. มาตรา 147, 151, 157, 334, 335

ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4)

ขณะเกิดเหตุโจทก์ดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับ การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ข้อ 10 (1) สโมสรรัฐสภาไม่ได้เป็นนิติบุคคลที่อยู่ในหน้าที่ควบคุมดูแลของโจทก์และมิได้เป็นส่วนราชการในสังกัดสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตามประกาศรัฐสภา โดยผู้จัดการสโมสรรัฐสภาและคณะกรรมการสโมสรรัฐสภามีอำนาจดูแลและจัดการบริหารทรัพย์สินของสโมสรรัฐสภา อนุมัติการจ่ายเงินของสโมสรรัฐสภา และจัดการซึ่งกิจการโดยทั่วไปของสโมสรรัฐสภา โจทก์มิได้เป็นคณะกรรมการสโมสรรัฐสภาหรือผู้จัดการสโมสรรัฐสภา จึงไม่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานหรือจัดการทรัพย์สินของสโมสรรัฐสภา คำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยเป็นประธานกรรมการสโมสรรัฐสภา และผู้จัดการสโมสรจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ มิได้ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะมีอำนาจเข้าบริหารกิจการและทรัพย์สินของสโมสรรัฐสภา โจทก์ในฐานะประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินหรือเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินของสโมสรรัฐสภา การเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาหรือไม่ ต้องปรากฏข้อเท็จจริงโดยชัดแจ้งว่าผู้นั้นได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิด ทั้งการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการอันเป็นผลเสียหายแก่รัฐ รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ การกระทำความผิดของจําเลยที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงเป็นการกระทำต่อรัฐซึ่งเป็นอำนาจของหน้าที่ของพนักงานอัยการที่จะฟ้องขอให้ลงโทษผู้กระทำความผิดดังกล่าวตาม ป วิ อ. มาตรา 28 (1) โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147, 151, 157, 334 และ 335

ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151, 157, 334, 335

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ในฐานะประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ต่อมาที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ตราข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ซึ่งข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติดังกล่าวตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 13 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีอำนาจตราข้อบังคับเกี่ยวกับการเลือกและการปฏิบัติหน้าที่ของประธานสภา รองประธานสภา และกรรมาธิการ วิธีการประชุม การเสนอ และการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติและร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ การเสนอญัตติ การอภิปราย การลงมติ การตั้งกระทู้ การรักษาระเบียบและความเรียบร้อย และกิจการอื่นเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่”

 แต่อำนาจหน้าที่ดังกล่าวเห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อให้การประชุมในเรื่องต่าง ๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยเฉพาะข้อความที่ว่า “กิจการอื่นตามอำนาจหน้าที่” นั้น ย่อมต้องหมายความว่าอำนาจหน้าที่ของโจทก์ตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อำนาจ เมื่อมาตรา 2 วรรคสองของรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันบัญญัติเฉพาะให้บทบัญญัติของหมวด 2 พระมหากษัตริย์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11/2557 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557 ยังคงใช้บังคับต่อไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญนี้ และภายใต้บังคับมาตรา 43 วรรคหนึ่ง ระบุว่าที่ใดในบทบัญญัติดังกล่าวอ้างถึงรัฐสภาหรือประธานรัฐสภาให้หมายถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญนี้ แล้วแต่กรณี ดังนั้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 จึงไม่มีบทบัญญัติให้โจทก์ในฐานะประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีอำนาจเกี่ยวกับการจัดการดูแลทรัพย์สินของสโมสรรัฐสภา ทั้งข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนและฎีกาของโจทก์ได้ความว่า การบริหารสโมสรรัฐสภาต้องดำเนินการตามข้อบังคับสโมสรรัฐสภา พ.ศ. 2546 เมื่อพิจารณาข้อบังคับสโมสรรัฐสภาดังกล่าวที่ระบุว่า สโมสรรัฐสภาเป็นสถานที่ให้บริการแก่สมาชิกรัฐสภา รัฐมนตรี และสมาชิกสโมสรในการพบปะสังสรรค์ นันทนาการต่าง ๆ เพื่อประโยชน์แก่มวลสมาชิก โดยสมาชิกต้องเสียค่าธรรมเนียม ค่าบำรุงและค่าบริการสมาชิกตามที่คณะกรรมการกำหนด สำหรับการบริการของสโมสรรัฐสภาต้องดำเนินการโดยคณะกรรมการสโมสรรัฐสภา ส่วนที่มาของกรรมการสโมสรรัฐสภาตามข้อบังคับข้อ 18 และ ข้อ 19 ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยที่ประชุมของสมาชิกสโมสรรัฐสภา และคณะกรรมการสโมสรรัฐสภาเลือกกรรมการด้วยกันหนึ่งคนเป็นนายกสโมสร และให้นายกสโมสรแต่งตั้งผู้จัดการสโมสรรัฐสภา คณะกรรมการสโมสรรัฐสภาและผู้จัดการสโมสรรัฐสภามีอำนาจดูแลรักษาและจัดการบริหารทรัพย์สินของสโมสร อนุมัติการสั่งจ่ายเงินของสโมสร ส่วนผู้จัดการสโมสรมีหน้าที่จัดการสโมสรตามวัตถุประสงค์ ดูแลและจัดการซึ่งกิจการโดยทั่วไปของสโมสร กับให้ผู้จัดการสโมสรเป็นตัวแทนสโมสรในนิติสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกในเรื่องกิจการและทรัพย์สินของสโมสรตามข้อบังคับข้อ 20, 30 และ 31

โจทก์มิได้เป็นคณะกรรมการสโมสรรัฐสภา หรือผู้จัดการสโมสรรัฐสภา จึงไม่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานหรือจัดการทรัพย์สินของสโมสรรัฐสภา แม้โจทก์มีอำนาจหน้าที่ควบคุมและดำเนินกิจการของสภาตามข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ข้อ 10 (1) แต่สโมสรรัฐสภาไม่ได้เป็นนิติบุคคลที่อยู่ในหน้าที่ควบคุมดูแลของโจทก์ และไม่ได้เป็นส่วนราชการในสังกัดสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตามประกาศรัฐสภา เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2545 แม้จะมีหน่วยงานและข้าราชการของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานสโมสรรัฐสภา โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้มอบให้สำนักบริหารงานกลางมีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการเกี่ยวกับกิจการสโมสรรัฐสภา และสำนักคลังและงบประมาณมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดทำบัญชีในสโมสรรัฐสภาและด้านการเงินของสโมสรรัฐสภา แต่อำนาจหน้าที่ดังกล่าวเป็นเพียงการมอบหมายงานให้สำนักบริหารกลางและสำนักงานคลังและงบประมาณ ซึ่งเป็นหน่วยงานและข้าราชการของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรไปช่วยดูแลงานของสโมสรรัฐสภา อันมีลักษณะเป็นงานในภาพรวมของการดำเนินการเกี่ยวกับกิจการสโมสรรัฐสภาเท่านั้น แต่การบริหารสโมสรรัฐสภาเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสโมสรรัฐสภา และผู้จัดการสโมสรรัฐสภาตามข้อบังคับสโมสรรัฐสภาข้างต้น โจทก์ในฐานะประธานรัฐสภามีอำนาจสั่งให้คณะกรรมการยุติการดำเนินการเมื่อปรากฏว่าคณะกรรมการได้ดำเนินการขัดต่อวัตถุประสงค์ของสโมสร หรืออาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสโมสร รวมทั้งมีอำนาจดำเนินการอื่นตามสมควร ซึ่งเป็นเรื่องการกำกับดูแลตามที่ข้อบังคับสโมสรรัฐสภา พ.ศ. 2546 ข้อ 21 กำหนดไว้เท่านั้น ไม่ได้ให้โจทก์เข้ามามีอำนาจในการบริหารและจัดการทรัพย์สินของสโมสรรัฐสภา

โจทก์ในฐานะประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินหรือเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินของสโมสรรัฐสภา และไม่ใช่อำนาจหน้าที่ประธานรัฐสภาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ส่วนที่โจทก์อ้างในทำนองว่าโจทก์ในฐานะประธานรัฐสภารักษาการตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. 2554 ซึ่งโจทก์อ้างเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งว่าโจทก์อยู่ในฐานะที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยกับพวกตามฟ้อง เห็นว่า การที่กฎหมายบัญญัติให้มีผู้รักษาการก็เพื่อให้ทราบถึงผู้ดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายนั้น ลำพังเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายไม่ได้หมายความรวมถึงให้โจทก์เป็นผู้เสียหายในคดีอาญาได้ในทุกกรณี การเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาหรือไม่ต้องปรากฏข้อเท็จจริงโดยชัดแจงว่า ผู้นั้นได้รับความเสียหายโดยตรง โดยเฉพาะการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151 และ 157 เป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการอันเป็นผลเสียหายแก่รัฐ รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ เมื่อความผิดดังกล่าวเป็นความผิดที่กระทำต่อรัฐ จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการที่จะฟ้องขอให้ลงโทษผู้กระทำความผิดดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 (1) ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าตามข้อบังคับสโมสรรัฐสภา พ.ศ. 2546 หมวด 1 ข้อ 10 (2) ระบุว่า สมาชิกสามัญ ได้แก่ สมาชิกรัฐสภา รัฐมนตรี โจทก์ในฐานะประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงเป็นสมาชิกสโมสรรัฐสภา โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายด้วยนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องและฎีกาอ้างว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ในฐานะประธานรัฐสภา ไม่ได้ฟ้องในฐานะส่วนตัว การที่โจทก์ฎีกาดังกล่าวจึงเป็นการกล่าวอ้างว่าโจทก์ได้รับความเสียหายในฐานะส่วนตัวที่เป็นสมาชิกสโมสรรัฐสภา ขัดกับที่โจทก์บรรยายฟ้องและฎีกามาข้างต้น

ประกอบกับคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่าจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา เป็นผู้มีหน้าที่จัดการ รักษาทรัพย์ ได้กระทำการหรือละเว้นกระทำการในหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือกระทำการในหน้าที่โดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รักษาทรัพย์ได้เบียดบังเอาทรัพย์เป็นของตนหรือของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์ไป และเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการ รักษาทรัพย์ใด ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตเป็นการเสียหายแก่รัฐ หรือเจ้าของทรัพย์นั้น และเป็นเจ้าพนักงานเอาไปเสียซึ่งทรัพย์ใดอันเป็นหน้าที่ของตนที่จะปกครองหรือรักษาไว้ หรือยอมให้ผู้อื่นกระทำเช่นนั้น ทั้งยังเป็นการลักเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต การกระทำของจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสโมสรรัฐสภา โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่าการกระทำของจำเลยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษอย่างไร ฎีกาโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นเรื่องนอกฟ้อง

ส่วนโจทก์ฎีกาต่อไปว่าในขณะเกิดเหตุไม่มีคณะกรรมการสโมสรรัฐสภา เพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติประกาศให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสิ้นสุดลง ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เลขหน้า 187, 190 และ 198 คณะกรรมการสโมสรรัฐสภาจึงสิ้นสภาพ ไม่มีอำนาจบริหารจัดการทรัพย์สินของสโมสร แม้ต่อมานายจเร เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลย มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสโมสรรัฐสภา โดยให้จำเลยเป็นประธานกรรมการและผู้จัดการสโมสรตามคำสั่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ 1292/2557 นั้น คำสั่งดังกล่าวเป็นการกระทำไปโดยไม่มีอำนาจ ดังนั้น คำสั่งที่แต่งตั้งคณะกรรมการสโมสรรัฐสภา ที่จำเลยเป็นประธานสโมสรและแต่งตั้งกรรมการสโมสรรัฐสภา จึงเป็นคำสั่งที่มิชอบและโดยสภาพกรรมการสโมสรรัฐสภาย่อมไม่ดำเนินคดีแก่จำเลย โจทก์ในฐานะประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติย่อมเป็นผู้เสียหายฟ้องคดีนี้ได้นั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ในฐานะประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารกิจการและทรัพย์สินของสโมสรรัฐสภาตามที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น การที่นายจเรมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสโมสรรัฐสภาจะเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร เป็นกรณีที่ต้องไปว่ากล่าวอีกส่วนหนึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะมีอำนาจเข้าบริหารกิจการและทรัพย์สินของสโมสรรัฐสภา ดังนี้ เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารกิจการสโมสรรัฐสภาจึงไม่ใช่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินของสโมสรรัฐสภาตามข้อบังคับสโมสรรัฐสภา พ.ศ. 2546 โจทก์ในฐานะประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติย่อมไม่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง โจทก์จึงไม่เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151, 157, 334 และ 335 ส่วนฎีกาข้ออื่นของโจทก์ที่อ้างว่าโจทก์ในฐานะประธานรัฐสภาเป็นผู้เสียหายเป็นฎีกาในรายละเอียดปลีกย่อยไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ดังนี้ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ว่าจำเลยกับพวกกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่จึงไม่จำต้องวินิจฉัย

พิพากษายืน

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4167/2564

หลักกฎหมาย ป.อ. มาตรา 147, 151, 157

แม้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้มีหน้าที่ทำหรือจัดการทรัพย์ของโครงการติดตั้งสัญลักษณ์จราจรภายในหมู่บ้าน แต่ตามระเบียกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2538 ข้อ 5 ให้คำนิยาม เจ้าหน้าที่พัสดุ หมายความว่า พนักงานส่วนตำบลหรือข้าราชการอื่นที่ปฏิบัติงานในองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ประธานกรรมการบริหารแต่งตั้งหรือมอบหมายให้มีหน้าที่หรือปฏิบัติงานเกี่ยวกับการพัสดุตามระเบียบนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่พัสดุจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้มีหน้าที่ทำหรือจัดการเงินที่สภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมออนุมัติแล้วการที่จำเลยที่ 1 เสนอรายงานขอจ้างเหมาติดตั้งสัญลักษณ์จราจรภายในหมู่บ้านตามโครงการดังกล่าวโดยวิธีตกลงราคาพร้อมรายชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจการจ้างต่อจำเลยที่ 2 จึงเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำและจัดการทรัพย์ เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานทำหรือจัดการทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 (เดิม) และเมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 (เดิม) อันเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่จำต้องปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 157 (เดิม) ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก

ส่วนจำเลยที่ 2 คงได้ความแต่ว่า จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอ มีหน้าที่รับผิดชอบบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบาย แผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล ข้อบัญญัติ ระเบียบและข้อบังคับของทางราชการ มีอำนาจสั่งอนุญาตและอนุมัติเกี่ยวกับราชการขององค์การบริหารส่วนตำบล ตลอดจนเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานส่วนตำบลและลูกจ้างองค์การบริหารส่วนตำบล กับมีอำนาจในการอนุมัติสั่งซื้อสั่งจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอให้เป็นไปตามระเบียกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2538 ซึ่งจำเลยที่ 2 มีส่วนเกี่ยวข้องเพียงเป็นผู้อนุมัติเห็นชอบตามที่จำเลยที่ 1 เสนอมาเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงในการซื้อทรัพย์ใด ๆ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 (เดิม)

ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 147, 151, 157 และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 100,000 บาท แก่องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอ

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 5 ปี จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 จำคุก 3 ปี 4 เดือน ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 3 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 2 ปี ข้อหาอื่นให้ยก และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนโยธา องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอ และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่พัสดุ มีอำนาจหน้าที่ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2538 จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอ มีอำนาจสั่งซื้อสั่งจ่ายให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2538 จำเลยที่ 3 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปและจำหน่ายอุปกรณ์ก่อสร้าง

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2547 สภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอมีมติในการประชุมสมัยวิสามัญ สมัยที่ 1 ครั้งที่ 2 อนุมัติให้จ่ายขาดเงินสะสมเพื่อดำเนินการโครงการติดตั้งสัญลักษณ์จราจรภายในหมู่บ้าน เป็นเงิน 100,000 บาท โดยกำหนดรายละเอียดโครงการว่า ติดตั้งป้ายกระจกโค้ง จำนวน 10 ชุด ป้ายทางโค้ง จำนวน 6 ป้าย กันเลนบริเวณ 3 แยก 2 จุด ลูกระนาด จำนวน 30 จุด และป้ายลดความเร็ว จำนวน 6 ป้าย ต่อมาวันที่ 12 มีนาคม 2547 จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าหน้าที่พัสดุเสนอรายงานขอจ้างเหมาติดตั้งสัญลักษณ์จราจรภายในหมู่บ้านตามโครงการดังกล่าวโดยวิธีตกลงราคา แต่ไม่มีรายการประมาณการค่าดำเนินการแยกแต่ละรายการ และไม่มีการเสนอแต่งตั้งผู้ควบคุมงาน มีเพียงวงเงินรวมที่ตั้งไว้ พร้อมรายชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจการจ้างต่อจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้สั่งจ้างพิจารณา จำเลยที่ 2 พิจารณาแล้วเห็นชอบและลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจการจ้าง วันที่ 15 มีนาคม 2547 จำเลยที่ 3 เสนอทำงานดังกล่าวเป็นเงิน 100,000 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 6,542.10 บาท กำหนดเวลาส่งมอบงานภายใน 30 วัน นับถัดจากวันเริ่มทำสัญญา จำเลยที่ 2 ตกลงจ้างเหมาจำเลยที่ 3 ติดตั้งสัญลักษณ์จราจรดังกล่าว เป็นเงิน 100,000 บาท กำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 14 เมษายน 2547 ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำบันทึกรายงานการก่อสร้างประจำวันโครงการติดตั้งสัญลักษณ์จราจรภายในหมู่บ้าน วันที่ 29 มีนาคม 2547 จำเลยที่ 3 มีหนังสือขอส่งมอบงานต่อจำเลยที่ 2 ว่า ทำการแล้วเสร็จถูกต้องตามสัญญาจ้าง ขอให้คณะกรรมการตรวจการจ้างตรวจรับงาน หากถูกต้องแล้วขอให้เบิกจ่ายเงินให้จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 ทำบันทึกเสนอจำเลยที่ 2 ว่า เห็นควรแจ้งคณะกรรมการตรวจการจ้างตรวจรับงานจ้างเพื่อเบิกจ่ายเงินให้ผู้รับเหมาต่อไป จำเลยที่ 2 แจ้งคณะกรรมการตรวจการจ้างทราบ ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำบันทึกเสนอประธานคณะกรรมการตรวจการจ้างว่าได้ควบคุมงานตั้งแต่วันที่ผู้รับเหมาเริ่มทำงานและผู้รับเหมาทำงานเสร็จเรียบร้อยถูกต้องเป็นไปตามรายละเอียดแบบแปลนขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอ วันที่ 31 มีนาคม 2547 คณะกรรมการตรวจการจ้างเสนอจำเลยที่ 2 ว่า ผู้รับเหมาส่งมอบงานถูกต้องครบถ้วนตามแบบ รูป และรายละเอียดทุกประการ สมควรเบิกจ่ายเงิน 100,000 บาท ให้ผู้รับเหมา จำเลยที่ 2 จึงอนุมัติให้เบิกจ่ายเงินให้ผู้รับเหมา วันที่ 2 เมษายน 2547 มีการเบิกจ่ายเงิน 100,000 บาท ให้จำเลยที่ 3 โดยหักภาษี ณ ที่จ่าย 1,000 บาท

โดยการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต สำหรับความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นไปเป็นของตนเองหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสียสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานดังกล่าวสำหรับจำเลยที่ 3 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานดังกล่าวสำหรับจำเลยที่ 3 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น กับจำเลยที่ 3 เป็นผู้สนับสนุนกระทำความผิดฐานดังกล่าวตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ สำหรับจำเลยที่ 1 ปัญหาต้องพิจารณามีว่า จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ทำและจัดการเงินจำนวน 100,000 บาท ที่สภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมออนุมัติให้จ่ายขาดเงินสะสมเพื่อดำเนินการโครงการติดตั้งสัญลักษณ์จราจรภายในหมู่บ้านหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนได้ความว่า เมื่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอมีมติอนุมัติให้จ่ายขาดเงินสะสมเพื่อดำเนินการโครงการติดตั้งสัญลักษณ์จราจรภายในหมู่บ้าน เป็นเงิน 100,000 บาท แล้ว จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าหน้าที่พัสดุเสนอรายงานขอจ้างเหมาติดตั้งสัญลักษณ์จราจรภายในหมู่บ้านตามโครงการดังกล่าวโดยวิธีตกลงราคาพร้อมรายชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจการจ้างต่อจำเลยที่ 2

แม้ข้อเท็จจริงทางไต่สวนไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้มีหน้าที่ทำหรือจัดการทรัพย์ของโครงการติดตั้งสัญลักษณ์จราจรภายในหมู่บ้านก็ตาม แต่ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2538 ข้อ 5 ให้คำนิยาม เจ้าหน้าที่พัสดุ หมายความว่า พนักงานส่วนตำบลหรือข้าราชการอื่นที่ปฏิบัติงานในองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ประธานกรรมการบริหารแต่งตั้งหรือมอบหมายให้มีหน้าที่หรือปฏิบัติงานเกี่ยวกับการพัสดุตามระเบียบนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่พัสดุจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้มีหน้าที่ทำหรือจัดการเงินจำนวน 100,000 บาท ที่สภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมออนุมัติแล้ว การที่จำเลยที่ 1 เสนอรายงานขอจ้างเหมาติดตั้งสัญลักษณ์จราจรภายในหมู่บ้านตามโครงการดังกล่าวโดยวิธีตกลงราคาพร้อมรายชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจการจ้างต่อจำเลยที่ 2 จึงเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำและจัดการทรัพย์ เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานทำหรือจัดการทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม)

ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น ปัญหาต้องพิจารณามีว่า จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ซื้อ จ้างโครงการติดตั้งสัญลักษณ์จราจรภายในหมู่บ้านหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนไม่ได้ความว่า จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ซื้อทรัพย์ใด อย่างไร ได้ความแต่เพียงว่าจำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอ มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอ ให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบาย แผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล ข้อบัญญัติ ระเบียบและข้อบังคับของทางราชการ มีอำนาจสั่งอนุญาตและอนุมัติเกี่ยวกับราชการขององค์การบริหารส่วนตำบล ตลอดจนเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานส่วนตำบลและลูกจ้างองค์การบริหารส่วนตำบล กับมีอำนาจในการอนุมัติสั่งซื้อสั่งจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2538 ส่วนการซื้อการจ้างโดยวิธีตกลงราคาคดีนี้ ทางไต่สวนได้ความว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้เสนอรายงานขอจ้างติดตั้งสัญลักษณ์จราจรภายในหมู่บ้านตามโครงการติดตั้งสัญลักษณ์จราจรภายในหมู่บ้านโดยวิธีตกลงราคาพร้อมรายชื่อคณะกรรมการตรวจการจ้างต่อจำเลยที่ 2 เพื่อให้ความเห็นชอบ ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้ให้ความเห็นชอบตามที่จำเลยที่ 1 เสนอ เห็นได้ว่า จำเลยที่ 2 มีส่วนเกี่ยวข้องเพียงเป็นผู้อนุมัติเห็นชอบตามที่จำเลยที่ 1 เสนอมาเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงในการซื้อทรัพย์ใด ๆ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) และเมื่อวินิจฉัยข้างต้นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) แล้ว ประกอบกับจำเลยที่ 3 ไม่ได้อุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 ไม่เป็นความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 3 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำ หรือจัดการทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่เจ้าของทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 ทั้งเมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่จำต้องปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 157 (เดิม) ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน

อย่างไรก็ตามศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ที่ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 3 เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยที่ 3 โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก่อน เห็นว่า โทษจำคุกที่ศาลชั้นต้นกำหนดมานั้น เป็นอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้ ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ต่ำกว่านี้ได้อีก แต่อย่างไรก็ตามเมื่อคำเบิกความของจำเลยที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาของศาลชั้นต้น จึงมีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เห็นควรลดโทษให้จำเลยที่ 3 หนึ่งในสาม ส่วนที่จำเลยที่ 3 ขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นการช่วยส่งเสริมให้เจ้าพนักงานกระทำโดยทุจริต ก่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอและมีผลกระทบต่องบประมาณของรัฐในการพัฒนาประเทศทำให้รัฐต้องเสียหาย พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง ลำพังจำเลยที่ 3 ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนและมีภาระต้องรับผิดชอบต่อบุพการี ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์จำเลยที่ 3 ฟังขึ้นบางส่วน

 

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 5 ปี จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 3 ปี 4 เดือน เมื่อลดโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละหนึ่งในสามแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี 4 เดือน จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 2 ปี 2 เดือน 20 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8088/2561

ป.อ. มาตรา 147

เงิน 10,000 บาท ที่จำเลยในฐานะประธานศูนย์กีฬาตำบลโนนเมืองรับไปจากศูนย์การกีฬาแห่งประเทศไทยจังหวัดหนองบัวลำภู เป็นเงินที่ศูนย์การกีฬาแห่งประเทศไทยจังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการจัดสรรมาให้ศูนย์กีฬาตำบลโนนเมืองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์การบริหารส่วนตำบลโนนเมือง เงินดังกล่าวถือเป็นเงินของทางราชการที่ต้องนำส่งเป็นเงินรายได้ขององค์การบริหารส่วนตำบลโนนเมืองทั้งสิ้น กรณีมิใช่เป็นเงินที่มีผู้อุทิศให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลโนนเมืองเป็นการเฉพาะเจาะจงว่าให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังที่จำเลยฎีกา จำเลยในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโนนเมืองและในฐานะประธานศูนย์กีฬาตำบลโนนเมืองย่อมจะต้องทราบดีว่า จะต้องเก็บรักษาเงินดังกล่าวไว้อย่างไร การที่จำเลยอ้างว่า จำเลยมีความขัดแย้งกับ ส. ซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลโนนเมืองจนไม่สามารถจัดการแข่งขันกีฬาได้ ก็มิได้เป็นเหตุให้จำเลยมีหน้าที่หรือจำต้องเก็บรักษาเงินไว้เอง การที่จำเลยเก็บรักษาเงินไว้เองโดยไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการและไม่เคยแจ้งให้คณะกรรมการศูนย์กีฬาตำบลโนนเมืองทราบ พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยเจตนาเบียดบังเงินดังกล่าวเป็นของตนเองโดยทุจริต แม้ต่อมาจำเลยจะคืนเงินดังกล่าวให้แก่คณะกรรมการศูนย์กีฬาตำบลโนนเมือง แต่ก็เป็นเวลาภายหลังจากมีการร้องทุกข์แล้ว จึงหาเป็นเหตุให้รับฟังได้ว่าจำเลยมิได้มีเจตนาทุจริตเบียดบังเงินดังกล่าวไปเป็นของตนเอง

 

___________________________

 

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157 และให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 10,000 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานจำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 (เดิม) จำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยดำรงตำแหน่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโนนเมือง องค์การบริหารส่วนตำบลโนนเมืองได้จัดตั้งศูนย์กีฬาตำบลโนนเมือง เพื่อส่งเสริมการเล่นกีฬาและพัฒนาการกีฬาในระดับตำบล มีจำเลยเป็นประธานศูนย์กีฬาตำบลโนนเมือง เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2546 จำเลยในฐานะประธานศูนย์กีฬาตำบลโนนเมืองได้รับเงินอุดหนุนการจัดกิจกรรมกีฬาของศูนย์กีฬาตำบลโนนเมืองจากศูนย์การกีฬาแห่งประเทศไทย จังหวัดหนองบัวลำภูเป็นเงิน 10,000 บาท เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการจัดกิจกรรมกีฬาของศูนย์กีฬาตำบลโนนเมือง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2546 หลังจากได้รับเงินดังกล่าวมาแล้ว จำเลยได้เก็บเงินไว้เองโดยไม่นำส่งให้คณะกรรมการศูนย์กีฬาตำบลโนนเมืองเก็บรักษา วันที่ 17 ตุลาคม 2546 นายอุทัย และจ่าสิบเอกอริยะ กรรมการและรองประธานกรรมการศูนย์กีฬาตำบลโนนเมืองมอบอำนาจให้นายสมปราชญ์ กรรมการและเลขานุการศูนย์กีฬาตำบลโนนเมือง ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีต่อจำเลย วันที่ 10 พฤศจิกายน 2546 จำเลยลาออกจากตำแหน่งประธานศูนย์กีฬาตำบลโนนเมืองและมอบเงิน 10,000 บาท ให้แก่คณะกรรมการศูนย์กีฬาตำบลโนนเมือง คณะกรรมการศูนย์กีฬาตำบลโนนเมืองได้เลือกประธานศูนย์กีฬาตำบลโนนเมืองคนใหม่และมีมติให้นำเงิน 10,000 บาท ดังกล่าวสมทบกับเงินสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์เพื่อจัดการแข่งขันกีฬาในปี 2547 ต่อมาวันที่ 11 พฤศจิกายน 2546 จำเลยลาออกจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโนนเมือง

เห็นว่า เงิน 10,000 บาท ที่จำเลยไปรับจากศูนย์การกีฬาแห่งประเทศไทย จังหวัดหนองบัวลำภู จำเลยรับไปในฐานะประธานศูนย์กีฬาตำบลโนนเมืองและเป็นเงินที่ศูนย์การกีฬาแห่งประเทศไทยจังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการจัดสรรมาให้ศูนย์กีฬาตำบลโนนเมืองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์การบริหารส่วนตำบลโนนเมือง เงินดังกล่าวถือเป็นเงินของทางราชการที่ต้องนำส่งเป็นเงินรายได้ขององค์การบริหารส่วนตำบลโนนเมืองทั้งสิ้น กรณีมิใช่เป็นเงินที่มีผู้อุทิศให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลโนนเมืองเป็นการเฉพาะเจาะจงว่าให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังที่จำเลยฎีกา จำเลยในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโนนเมืองและในฐานะประธานศูนย์กีฬาตำบลโนนเมืองย่อมจะต้องทราบดีว่า จะต้องเก็บรักษาเงินดังกล่าวไว้อย่างไร โดยปฏิบัติเหมือนเช่นปีก่อน ๆ ที่ผ่านมา การที่จำเลยกล่าวอ้างว่า จำเลยกับนายสมปราชญ์ซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลโนนเมือง มีความขัดแย้งกันจนไม่สามารถจัดการแข่งขันกีฬาได้ ก็ไม่ได้เป็นเหตุให้จำเลยมีหน้าที่หรือจำต้องเก็บรักษาเงินไว้เอง และการที่จำเลยเก็บรักษาเงินไว้เองโดยไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ ที่สำคัญไม่เคยแจ้งให้คณะกรรมการศูนย์กีฬาตำบลโนนเมืองทราบ พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยจึงรับฟังได้ปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยเจตนาเบียดบังเงินดังกล่าวเป็นของตนเองโดยทุจริต แม้ต่อมาจำเลยจะคืนเงิน 10,000 บาท ให้แก่คณะกรรมการศูนย์กีฬาตำบลโนนเมือง แต่ก็เป็นเวลาภายหลังจากที่นายสมปราชญ์ไปร้องทุกข์แล้ว จึงหาเป็นเหตุให้รับฟังได้ว่า จำเลยมิได้มีเจตนาทุจริตเบียดบังเงินดังกล่าวไปเป็นของตนเอง พยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าวมาเมื่อรับฟังประกอบกับคำรับสารภาพของจำเลย เชื่อได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

 

พิพากษายืน

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6792/2561

ป.อ. มาตรา 147, 151, 157

การที่จะถือว่าเป็นสาธารณภัยต้องเป็นภัยที่เกิดแก่คนหมู่มากอันมีผลกระทบต่อสาธารณชน ได้ความว่าบ้านพักของจำเลยซึ่งตั้งอยู่ที่ซอยประชาชื่น 35 มีการยกระดับถนนประชาชื่นสูงกว่าถนนในซอย ทำให้ระดับบ้านของจำเลยมีน้ำท่วมขังในเวลาที่ฝนตกหนัก สาเหตุที่น้ำท่วมบ้านของจำเลยเกิดจากการระบายน้ำในท่อไม่ทัน แต่เมื่อฝนหยุดตก 5 ถึง 6 ชั่วโมง น้ำจึงระบายออกหมด การที่น้ำท่วมบ้านจำเลยดังกล่าวยังไม่ถือว่าเป็นสาธารณภัย จำเลยจึงไม่อาจอ้างเหตุสาธารณภัยเพื่อให้ตนเองพ้นผิดในการใช้รถยนต์เทศบาลเมืองคูคตขนทรายพิพาทไปใช้โดยขัดต่อระเบียบหาได้ไม่ ทั้งจำเลยนำทรายพิพาทไปคืนหลังเกิดเหตุแล้วถึง 5 เดือน ซึ่งเป็นพฤติการณ์ที่ส่อเจตนาว่า จำเลยนำทรายพิพาทไปใช้เพื่อประโยชน์ของจำเลย ไม่ใช่เป็นการยืมทรายพิพาทแล้วนำมาใช้คืนตามที่กล่าวอ้าง การกระทำของจำเลยเป็นการอาศัยอำนาจในตำแหน่งนายกเทศมนตรีสั่งการให้ใช้รถยนต์ของเทศบาลเมืองคูคตขนย้ายทรายพิพาทไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่ถูกต้องตามระเบียบปฏิบัติ

สำหรับองค์ประกอบตามความผิด ป.อ. มาตรา 147 และ 151 ผู้กระทำความผิดต้องเป็นเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ได้เบียดบังทรัพย์ที่ตนมีหน้าที่ดังกล่าวเป็นของตนโดยทุจริตหรือใช้อำนาจในตำแหน่งดังกล่าวโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ พยานโจทก์ที่นำสืบมาไม่ได้เบิกความยืนยันว่า จำเลยมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด อย่างไร เพียงได้ความแต่ว่าจำเลยเป็นนายกเทศมนตรีเมืองคูคต มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย สั่งอนุญาตและอนุมัติเกี่ยวกับราชการของเทศบาลและมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ซื้อหรือจ้างทุกวิธีที่ใช้จ่ายจากเงินรายได้ไม่จำกัดวงเงินตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ส่วนการจัดซื้อทรายพิพาทได้ความว่าอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของฝ่ายโยธา ในขณะที่การจัดการดูแลรับผิดชอบรถยนต์ของเทศบาลเมืองคูคต เป็นหน้าที่ของงานป้องกันและรักษาความสงบเรียบร้อยของเทศบาลเมืองคูคต เห็นได้ว่า จำเลยมีส่วนเกี่ยวข้องเพียงเป็นผู้อนุมัติเกี่ยวกับงานราชการของเทศบาลเมืองคูคต ไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงในการซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147 และ 151

 แต่การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายอาศัยอำนาจในตำแหน่งนายกเทศมนตรีสั่งการให้ใช้รถยนต์ของเทศบาลเมืองคูคตขนทรายพิพาทไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่ถูกต้องตามระเบียบดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่เทศบาลเมืองคูคตจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157

 

___________________________

 

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151, 157 ให้จำเลยคืนทรายและน้ำมันหรือเงินสดจำนวน 1,781 บาท แก่เทศบาลเมืองคูคต และนับโทษต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ. 6450/2558 ของศาลชั้นต้น

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุก 5 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน นับโทษของจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.6450/2558 ของศาลชั้นต้น ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยคืนทรายและน้ำมันรถหรือเงินสดจำนวน 1,781 บาท แก่เทศบาลเมืองคูคตนั้น เมื่อปรากฏว่าจำเลยนำเงินค่าทรายและค่าน้ำมันรถพร้อมดอกเบี้ยชำระให้แก่เทศบาลเมืองคูคตแล้ว จึงให้ยกคำขอในส่วนนี้

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ระหว่างวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2555 และเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายสั่งอนุญาตและอนุมัติเกี่ยวกับราชการของเทศบาลเมืองคูคต

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2552 จำเลยโทรศัพท์บอกนายอนุสรณ์ หัวหน้าฝ่ายป้องกันและรักษาความสงบเรียบร้อยเทศบาลเมืองคูคต ให้ขนกระสอบบรรจุทรายของเทศบาลเมืองคูคตที่ซื้อมาเพื่อป้องกันน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองคูคตไปที่บ้านของจำเลยเพื่อใช้ป้องกันน้ำท่วมบ้านของจำเลยจำนวน 40 กระสอบ นายอนุสรณ์จึงสั่งให้นายณรงค์ฤทธิ์ พนักงานจ้างตามภารกิจ ทำหน้าที่หัวหน้าเวรชุดที่ 1 งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลเมืองคูคต จัดรถและคนเพื่อขนกระสอบทรายจำนวน 40 กระสอบ คิดเป็นเงิน 680 บาท ขึ้นรถกระบะหมายเลขทะเบียน บง 3974 ปทุมธานี ของเทศบาลเมืองคูคตไปที่บ้านของจำเลยซึ่งอยู่ในซอยประชาชื่น 35 แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร โดยมีนายนภดล ขับรถกระบะ หมายเลขทะเบียน บ 3677 ปทุมธานี ของเทศบาลเมืองคูคตอีกคันหนึ่ง นำพนักงานเทศบาลอีก 3 คน ไปด้วย เมื่อไปถึงบ้านของจำเลย จำเลยและภริยาสั่งให้พนักงานเทศบาลเมืองคูคตช่วยกันขนกระสอบทรายไปวางเป็นแนวป้องกันน้ำท่วมหน้าประตูบ้านแล้วเดินทางกลับสำนักงานเทศบาลเมืองคูคต และในวันดังกล่าวมีการเติมน้ำมันรถกระบะหมายเลขทะเบียน บง 3974 ปทุมธานี คันที่ใช้ขนกระสอบทรายจำนวน 40 ลิตร เป็นเงิน 1,101.60 บาท ต่อมาจำเลยในฐานะนายกเทศมนตรีเมืองคูคตได้อนุมัติเบิกจ่ายเงินค่าน้ำมันรถดังกล่าวจากเงินงบประมาณของเทศบาลเมืองคูคต

 

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ โจทก์มีนายอนันต์ ผู้อำนวยการกองช่าง เทศบาลเมืองคูคต และนายจิระ หัวหน้าฝ่ายการโยธา เทศบาลเมืองคูคต ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับทรายพิพาทที่จำเลยสั่งให้พนักงานเทศบาลเมืองคูคตนำไปใช้ป้องกันน้ำท่วมบ้านจำเลยซึ่งอยู่นอกเขตเทศบาลเมืองคูคตเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า ตามระเบียบปฏิบัติการนำทรายที่เทศบาลเมืองคูคตจัดซื้อเพื่อไว้ใช้ในการป้องกันน้ำท่วม กรณีปกติทั่วไปชาวบ้านที่มาขอต้องเขียนคำร้องเพื่อจะได้ทราบว่าผู้ใดเอาไปบ้างเป็นจำนวนเท่าใด และลงหลักฐานการเบิกจ่ายไว้โดยเสนอคำร้องให้ผู้มีอำนาจอนุมัติ และหากเป็นกรณีที่นำทรายดังกล่าวออกไปใช้นอกเขตพื้นที่เทศบาลเมืองคูคตจะต้องได้รับอนุญาตจากผู้บริหารก่อน แต่ทรายพิพาทที่จำเลยสั่งให้พนักงานเทศบาลเมืองคูคตนำไปใช้ป้องกันน้ำท่วมบ้านของจำเลย ซึ่งอยู่นอกเขตเทศบาลเมืองคูคต พยานโจทก์ทั้งสองไม่ทราบเรื่องและไม่มีการรายงานเรื่องดังกล่าวให้ทราบ ส่วนการใช้รถยนต์ของเทศบาลเมืองคูคตขนทรายพิพาทดังกล่าวก็ได้ความจากนายอนุสรณ์ หัวหน้าฝ่ายป้องกันและรักษาความสงบเรียบร้อยพยานโจทก์ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องดังกล่าว เบิกความยืนยันว่า การใช้รถยนต์ของเทศบาลต้องยื่นคำร้องต่อหัวหน้างานและหัวหน้าฝ่ายป้องกันและรักษาความสงบเรียบร้อย แล้วเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นเพื่อขออนุญาตตามระเบียบเทศบาลเมืองคูคตว่าด้วยการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 แต่การใช้รถยนต์ของเทศบาลเมืองคูคตขนทรายพิพาทไปบ้านจำเลยไม่ได้ขออนุญาตใช้รถยนต์จากผู้บังคับบัญชาตามระเบียบ ที่จำเลยฎีกาอ้างว่า เป็นการขอยืมทรายพิพาทไปใช้ก่อนเพื่อนำไปใช้ในการป้องกันน้ำท่วมซึ่งเป็นการบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดขึ้นที่บ้านจำเลย จำเลยมีสิทธินำรถยนต์ขนทรายพิพาทได้ไม่เป็นการขัดต่อระเบียบและเมื่อภัยพิบัติได้ล่วงพ้นไปจำเลยนำทรายพิพาทคืนให้แก่เทศบาลเมืองคูคตแล้วนั้น

เห็นว่า การที่จะถือว่าเป็นสาธารณภัยต้องเป็นภัยที่เกิดแก่คนหมู่มาก อันมีผลกระทบต่อสาธารณชน แต่ได้ความตามเอกสารแก้ข้อกล่าวอ้างของจำเลย ข้อที่ 13 ว่า ซอยประชาชื่น 35 ซึ่งบ้านจำเลยตั้งอยู่เดิมชื่อซอยศิริโรจน์ ลักษณะเป็นซอยตันในหมู่บ้านศิริโรจน์ที่สร้างประมาณปี 2514 ถึง 2515 มีบ้านเพียง 14 หลัง ประมาณปี 2520 ถึงปี 2521 มีการยกระดับถนนประชาชื่นสูงกว่าถนนในซอยประชาชื่น 35 ประมาณ 35 ถึง 70 เซนติเมตร และขยายผังการจราจรจาก 2 ช่องเดินรถเป็น 4 ช่องเดินรถ ทำให้ระดับบ้านของจำเลยในซอยประชาชื่น 35 เริ่มมีปัญหาเกิดน้ำท่วมในเวลามีฝนตกหนัก ทั้งจำเลยเบิกความรับว่า สาเหตุการที่น้ำท่วมบ้านจำเลยในซอยประชาชื่น 35 เกิดจากก่อนเกิดเหตุ 1 วัน ฝนตกหนัก 3 ชั่วโมง ทำให้ระบายน้ำในท่อไม่ทัน แต่เมื่อฝนหยุดตก 5 ถึง 6 ชั่วโมง น้ำจึงระบายออกหมด การที่น้ำท่วมบ้านจำเลยดังกล่าวยังไม่อาจถือได้ว่าเหตุดังกล่าวเป็นสาธารณภัย จำเลยจะอ้างเป็นเหตุสาธารณภัยเพื่อให้ตนเองพ้นผิดในการใช้รถยนต์เทศบาลเมืองคูคตขนทรายพิพาทไปใช้โดยขัดต่อระเบียบปฏิบัติหาได้ไม่ ส่วนที่จำเลยอ้างว่าเป็นการยืมทรายพิพาทไปใช้ชั่วคราวก็ไม่มีระเบียบปฏิบัติที่จะกระทำได้ ส่วนสภาพทรายพิพาทจำเลยก็เบิกความรับว่า เป็นทรายขี้เป็ด หลังจากถูกน้ำท่วมแล้วภายหลังจะแห้งแข็งไม่สามารถนำไปใช้งานได้อีก ทั้งได้ความว่า จำเลยนำทรายพิพาทไปคืนหลังเกิดเหตุแล้ว 5 เดือน เป็นพฤติการณ์ที่ส่อเจตนาของจำเลยว่า จำเลยนำทรายพิพาทไปเพื่อประโยชน์ของจำเลย ไม่ใช่เป็นการยืมทรายพิพาทแล้วนำมาใช้คืนตามที่จำเลยอ้าง การกระทำของจำเลยเป็นการอาศัยอำนาจในตำแหน่งนายกเทศมนตรีสั่งการให้ใช้รถยนต์ของเทศบาลเมืองคูคตขนย้ายทรายพิพาทไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว โดยไม่ถูกต้องตามระเบียบปฏิบัติ แต่เห็นว่า องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และ 151 ผู้กระทำผิดต้องเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ได้เบียดบังทรัพย์ที่ตนมีหน้าที่ดังกล่าวเป็นของตนโดยทุจริตหรือใช้อำนาจในตำแหน่งดังกล่าวโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ แต่พยานโจทก์ที่นำสืบไม่ได้เบิกความยืนยันว่า จำเลยมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด อย่างไร เมื่อพิจารณาตามรายงานและสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกอบระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2535 และหน้าที่รับผิดชอบของหน่วยงานในเทศบาลเมืองคูคตเอกสารท้ายฎีกา ซึ่งโจทก์ไม่ได้แก้ฎีกาคัดค้านได้ความว่า จำเลยเป็นนายกเทศมนตรีเมืองคูคต มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย สั่งอนุญาตและอนุมัติเกี่ยวกับราชการของเทศบาลและมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ซื้อหรือจ้างทุกวิธีที่ใช้จ่ายจากเงินรายได้ไม่จำกัดวงเงินตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ส่วนการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างทรายพิพาทเป็นหน้าที่ของงานพัสดุและทรัพย์สิน และได้ความว่า ทรายพิพาทที่จัดซื้อมาได้อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของฝ่ายโยธา และการจัดการดูแลรับผิดชอบรถยนต์ของเทศบาลเมืองคูคต เป็นหน้าที่ของงานป้องกันและรักษาความสงบเรียบร้อยของเทศบาลเมืองคูคต จะเห็นได้ว่า จำเลยมีส่วนเกี่ยวข้องเพียงเป็นผู้อนุมัติเกี่ยวกับงานราชการของเทศบาลเมืองคูคต ไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงในการซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และ 151

แต่การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายอาศัยอำนาจในตำแหน่งนายกเทศมนตรีสั่งการให้ใช้รถยนต์ของเทศบาลเมืองคูคตขนทรายพิพาทไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่ถูกต้องตามระเบียบดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่เทศบาลเมืองคูคตเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และ 151 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน และเห็นควรปรับบทลงโทษและกำหนดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ที่ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้พิพากษาให้ถูกต้อง

ส่วนจำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่า จำเลยเป็นนายกเทศมนตรีมีหน้าที่บริหารราชการส่วนท้องถิ่นที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับประชาชนและปฏิบัติหน้าที่เพื่อประชาชนโดยส่วนรวมแต่กระทำผิดเสียเอง โดยใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่นำทรัพย์ที่ต้องบริการแก่ประชาชนไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนโดยไม่ชอบ เป็นพฤติการณ์ร้ายแรง ที่จำเลยฎีกาอ้างเหตุมีคุณความดีในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ มีอายุมากและมีโรคประจำตัวเป็นเหตุผลความจำเป็นส่วนตัวของจำเลย ไม่มีเหตุเพียงพอที่จะรอการลงโทษให้จำเลย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) ให้จำคุก 1 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน นับโทษจำเลยต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.6450/2558 ของศาลชั้นต้น ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และ 151 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อาวุธ ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา

การรับมรดกความในคดีอาญา

หลักการแปลงหนี้ใหม่