ฎีกาเด่น คำบรรยายเนติฯ สมัยที่ 70 ครั้งที่ 3





1.คำถาม โจทก์หลายคนต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวฟ้องเรียนส่วนบ่างที่ดินจากจำเลย โดยฟ้องรวมกันมา การพิจารณาทุนทรัพย์ว่าคดีต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงหรืไม่ ต้องคัดค้านอย่างไร

คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
ฎ. 9457/2559 โจทก์ทั้งสิบฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงโดยขอให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนแบ่งแยกและโอนที่ดินพิพาท เนื้อที่ 50 ไร่ 3 งาน 39 ตารางว่า ให้แก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 10 และจำเลยที่ 1 คนละเท่ากัน ประมาณคนละ 5 ไร่ แล่ให้แก่โจทก์ที่ 1 เนื้อที่ 3 งาน 39 ตารางวา และให้จำเลยทั้งสองรับเงินจากโจทก์ทั้งสิบ 500,000 บาท เป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสิบแต่ละคนใช้สิทธิฟ้อเรียกส่วนแบ่งที่ดินจากจำเลยทั้งสองเป็นการเฉพาะตัว แม้โจทก์ทั้งสิบจะฟ้องรวมกันมาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกต่างหากจากกัน โจทก์ทั้งสิบและจำเลยทั้งสองตกลงให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนแบ่งแยกและโอนที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 50 ไร่ 3 งาน 39 ตารางวา แก่โจทก์ทั้งสิบ และจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ตกลงรับชำระเงิน 500,000 บาทถือว่าที่ดินพิพาทมีราคา 500,000 บาท โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 10 ฟ้องขอแบ่งที่ดินคนละ 5 ไร่ โจทก์ที่ 1 ฟ้องขอแบ่งที่ดิน 3 งาน 39 ตารางวา เมื่อคำนวณราคาที่ดินพิพาทโดยเฉลี่ยแล้ว ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ระหว่างจำเลยทั้งสองกับโจทก์แต่ละคนไม่เกิน 50,000 บาท ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

สะกิดต่อมกฎหมาย : การคำนวณทุนทรัพย์

            1.ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนเงินที่พิพาทกัน ต้องมีจำนวนมากกว่า 50,000 บาท หากพิพาทกันเป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท พอดี ก็ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
            2.ราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ ต้องถือขณะยื่นฟ้องอุทธรณ์ ซึ่งหากเป็นกรณีที่โจทก์เป็นผู้อุทธรณ์ต้องถือตามทุนทรัพย์ตามที่โจทก์ยังติดใจเรียกร้อง ส่วนกรณีที่จำเลยอุทธรณ์ต้องถือทุนทรัพย์ที่จำเลยยังโต้แย้งว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิด
            3.กรณีคดีที่ฟ้องมีการเรียกดอกเบี้ยหรือค่าเสียหายด้วย ให้นำดอกเบี้ยและค่าเสียหายคิดถึงวันฟ้องเท่านั้นในการคำนวณทุนทรัพย์ ส่วนดอกเบี้ยหรือค่าเสียหายภายหลังวันยื่นคำฟ้องถือเป็นหนี้อนาคต ไม่นับรวมคำนวณเป็นทุนทรัพย์
4. กรณีเป็นคดีที่มีโจทก์หลายคน ฟ้องจำเลยคนเดียว การคำนวณทุนทรัพย์หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ ต้องพิจารณาว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์แต่ละคนเป็นการใช้สิทธิเฉพาะตัวแยกกันได้หรือไม่ กรณีถ้ามิใช่เจ้าหนี้ร่วมการคำนวณทุนทรัพย์หรือราคาทรัพย์สินของโจทก์แตะละคนต้องถือแยกจากัน
5.กรณีเป็นคดีโจทก์คนเดียวฟ้องจำเลยหลายคน การคำนวณทุนทรัพย์หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ ให้พิจารณาโดยถือจำนวนทุนทรัพย์หรือราคาทรัพย์สินของจำเลยแต่ละคนแยกจากกันตามรายตัวจำเลย
6.กรณีเป็นคดีที่โจทก์คนเดียวฟ้องจำเลยหลายข้อหา การคำนวณทุนทรัพย์หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ ต้องพิจารณาก่อนว่าแต่ละข้อหาสามารถแยกจากันหรือเกี่ยวข้องกันหรือไม่ หากแต่ละข้อหาไม่เกี่ยวข้องกันต้องคำนวณทุนทรัพย์ในการอุทธรณ์เป็นรายข้อหา
7.กรณีที่มีการรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันนั้นก็เพื่อความสะดวกของคู่ความและศาลเท่านั้น การคำนวณทุนทรัพย์หรือราคาทรัพย์พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ ต้องถือตามทุนทรัพย์ของแต่ละคดีแยกออกจากกัน
8.กรณีที่มีการฟ้องแย้งมาในคดีเดิม การคำนวณทุนทรัพย์หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์  ในการอุทธรณ์คดีที่ฟ้องแย้งกับฟ้องเดิมแยกจากกันเป็นคนละคดีกัน

2.คำถาม โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้กับโจทก์ เมื่อถึงกำหนดจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย
            จำเลยให้การว่า หลังจากจำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ตามฟ้อง จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว และโจทก์ทำหนังสือระงับหนี้ให้ไว้แล้ว ขอให้ยกฟ้อง ดังนี้ ภาระการพิสูจน์ตกแก่คู่ความฝ่ายใดและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นค่าฤชาธรรมเนียมประเภทหนึ่งหรือไม่

คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
ฎ. 946/2559 โจทก์บรรยายฟ้องในความว่า จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้พิพาทกับโจทก์เมื่อถึงกำหนดจำเลยผิดนัด พร้อมทั้งแนบสำเนาหนังสือรับสภาพหนี้พิพาทท้ายคำฟ้องด้วย จำเลยให้การว่า หลังจากจำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้พิพาท จำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว และโจทก์ทำหนังสือระงับหนี้ให้ไว้ คำให้การของจำเลยจำเป็นคำให้การที่ยอมรับแต่โดยชัดแจ้งว่าจำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้พิพาทกับโจทก์จริงและได้ชำระหนี้หมดแล้ว ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลยที่มีหน้าที่นำสืบให้เห็นได้ว่าชำระหนี้ทั้งหมดแล้วอย่างไร ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84/1 ที่จำเลยให้การอีกว่า โจทก์ทำหนังสือระงับหนี้ให้ไว้ด้วยนั้น ก็เป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใหม่เพื่อไม่ต้องรับผิดตามฟ้องนั้นเอง กรณีหาใช้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ออกใบเสร็จให้เพื่อระยะหนึ่งแล้วโดยมิได้อิดเอื้อน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เพื่อระยะก่อนๆ นั้นด้วยแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 327 วรรคหนึ่งไม่
            ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นค่าฤชาธรรมเนียมประเภทหนึ่ง ซึ่งกฎหมายบัญญัติบังคับให้ศาลต้องมีคำสั่งไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่ ตามที่บัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 149 วรรคหนึ่ง และมาตรา 161 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้ การที่ศาลสั่งหรือไม่สั่งให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีหรือไม่ก็เป็นดุลพินิจ แต่ค่าใช่จ่ายในการดำเนินคดีนั้นต้องอยู่ในบังคับตาราง 7 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งกำหนดให้ศาลมีคำสั่งให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร โดยในคดีมีทุนทรัพย์ต้องไม่เกินร้อยละ 1 ขอจำนวนทุนทรัพย์ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแก่โจทก์ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

สะกิดต่อมกฎหมาย : ภาระการพิสูจน์

            1.หลักในการกำหนดภาระการพิสูจน์พยานหลักฐานตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84/1 คือคู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคำคู่ความของตน ให้คู่ความฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น
            2.ภาระการพิสูจน์ของคู่ความต้องพิจารณาจากประเด็นข้อพิพาทในคดีจากคำฟ้องและคำให้การอันถือว่าเป็นคำคู่ความ (นิยาม “คำคู่ความ” หมายความว่า บรรดาคำฟ้อง คำให้การ หรือคำร้องทั้งหลาย ที่ยื่นต่อศาลเพื่อตั้งประเด็นระหว่างคู่ความ)
            3.ข้อยกเว้น  มีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายเป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้น ต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว โดยฝ่ายที่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่ตนได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐาน แต่ภาระการพิสูจน์จะตกแก่คู่ความฝ่ายตรงข้ามที่ต้องพิสูจน์ข้อสันนิษฐานของกฎหมายนั้น

3.คำถาม โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีอาญา ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดีดังกล่าว และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต หลังจากนั้นโจทก์จึงมาฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้ โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้หรือไม่

คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
ฎ.10354/2559 เมื่อพิเคราะห์คำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์ลงวันที่ 6 มีนาคม 2556 ในคดีก่อนตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1279/2555 ของศาลชั้นต้น ประกอบคำฟ้องในคดีดังกล่าวแล้ว แม้คำร้องขอถอนฟ้องจะระบุว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีอีกต่อไป จึงขอถอนฟ้องโดยปรากฏว่าในคดีฟ้องดังกล่าวโจทก์มิได้ลงลายมือชื่อในคำฟ้อง แต่ทนายโจทก์เป็นผู้ลงลายมือชื่อในคำฟ้องแทนโจทก์ทั้งปรากฏว่าในวันรุ่งขึ้นหลังจากศาลอนุญาตให้ถอนฟ้องคดีดังกล่าวแล้ว โจทก์ได้มายื่นคำฟ้องใหม่เป็นคดีนี้ในมูลคดีอาญาความผิดเดียวกันกับคดีก่อน และขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ในบทมาตราเดียวกัน เชื่อว่าเหตุที่โจทก์ถอนฟ้องคดีก่อนเนื่องจากเห็นว่าโจทก์มิได้ลงลายมือชื่อในคำฟ้อง ซึ่งเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงประสงค์จะถอนฟ้องแล้วยื่นฟ้องใหม่ให้ถูกต้อง การถอนฟ้องคดีก่อนจึงมิใช่การถอนฟ้องเด็ดขาด ตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 36 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยยืนตามศาลชั้นต้นว่าโจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสี่มาแล้วในมูลคดีอาญาความผิดเดียวกันและถอนฟ้องไปจึงต้องห้ามมิให้ฟ้องจำเลยทั้งสี่อีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 36 นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา

สะกิดต่อมกฎหมาย : ถอนฟ้อง

            1.โดยหลัก เมื่อมีการถอนฟ้องคดีอาญาไปจากศาลแล้ว ก็จะนำคดีที่ถอนฟ้องไปแล้วมายื่นฟ้องต่อศาลอีกไม่ได้
            เว้นแต่เป็นกรณีดังต่อไปนี้
            1) คดีอาญาแผ่นดินที่พนักงานอัยการถอนฟ้อง ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่
            2) คดีความผิดต่อส่วนตัวที่พนักงานอัยการถอนฟ้องไปโดยมิได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้เสียหาย ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่
            3) คดีอาญาที่ผู้เสียหายถอนฟ้องไม่ตัดสิทธิพนักงานอัยการที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่ เว้นแต่จะเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว
            2.ในการถอนฟ้องต้องเป็นการถอนฟ้องคดีโดยเด็ดขาด คือ ถอนฟ้องเพราะไม่ติดใจดำเนินคดีกับจำเลยอีกต่อไป จึงจะมีผลทำให้ผู้เสียหายนำคดีอาญามาฟ้องยังศาลอีกไม่ได้ หากผู้เสียหายถอนฟ้องเพื่อขอเข้าเป็นโจทก์ในคดีที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องจำเลยนั้นมิใช่การถอนฟ้องโดยเด็ดขาดตามความหมายของมาตรา 36
            3.การถอนฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้องก็ถือเป็นการถอนฟ้อง ที่มีผลทำให้โจทก์ ไม่อาจนำคดีอาญามาฟ้องยังศาลอีกได้ แม้ว่าจะเป็นการถอนฟ้องก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งประทับฟ้องไว้พิจารณา
4.ในกรณีที่โจทก์ฟ้องผิดศาล แล้วมีการยื่นคำร้องขอถอนฟ้องเพื่อไปฟ้องยังศาลที่มีอำนานมิใช่การถอนฟ้องไปโดยเด็ดขาด ตามความหมายของ มาตรา 36 โจทก์นำคดีมาฟ้องใหม่ได้
5.กรณีความผิดอาญาที่มีผู้เสียหายหลายคน หากผู้เสียหายคนหนึ่งได้ยื่นคำฟ้องไว้แล้วขอถอนฟ้องไป ย่อมตัดสิทธิผู้เสียหายคนนั้นไม่ให้ฟ้องใหม่ แต่ไม่ได้ตัดสิทธิผู้เสียหายคนอื่นที่จะยื่นฟ้องคดีอาญาในข้อหาเดียวกันนั้นอีก
6. กรณีที่ผู้เสียหายคนเดียวกันมีผู้มีอำนาจจัดการแทนหลายคน และผู้มีอำนาจจัดการแทนบางคนได้ฟ้องและถอนฟ้องไปแล้ว ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายคนอื่นจะนำคดีมาฟ้องจำเลยอีกไม่ได้ เว้นแต่จะเป็นการดำเนินคดีโดยไม่สุจริต
7. การอนุญาตให้ถอนฟ้องหรือไม่ เป็นดุลพินิจของศาล แต่ถ้าจำเลยยื่นคำให้การแล้วและคัดค้าน ดังนี้ศาลต้องยกคำร้องขอถอนฟ้องจะใช้ดุลพินิจไม่ได้
           
4.คำถาม จำเลยเบิกความตอบคำถามค้านว่า เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ดังนี้ศาลจะรับฟังคำเบิกความดังกล่าวมารับฟังว่า กรณีของจำเลยไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะรอการลงโทษจำคุกให้จำเลย ได้หรือไม่

คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
ฎ. 960/2559 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 233 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่จำเลยเบิกความเป็นพยาน คำเบิกความของจำเลยย่อมใช้ยังจำเลยนั้นได้ และศาลอาจรับฟังคำเบิกความนั้นประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้” เมื่อจำเลยเบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้จำเลยถูกฟ้องที่ศาลจังหวัดกำแพงเพชรในข้อหามีและพาอาวุธปืนไปโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ศาลจังหวัดกำแพงเพชรพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 9 เดือน จำเลยพ้นโทษเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2556 คำเบิกความของจำเลยจึงใช้ยันจำเลยได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อนในความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 อันมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ได้

สะกิดต่อมกฎหมาย : ข้อเท็จจริงในสำนวน

            1.หลักในการวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงต้องใช้พยานหลักฐานมาเป็นหลักในการวินิจฉัย จะใช้ความรู้ของศาลเองหรือสิ่งอื่นที่ไม่ใช่พยานหลักฐานมาเป็นหลักในการวินิจฉัยไม่ได้ และพยานหลักฐานที่ใช้ต้องเป็นพยานหลักฐานในสำนวนคดีนั้น ศาลจะนำพยานหลักฐานนอกสำนวนมาวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 และ 86 วรรคหนึ่ง ซึ่งนำมาใช้ในคดีอาญาโดยอนุโลม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 พยานหลักฐานในสำนวนหมายถึงพยานหลักฐานที่ผ่านกระบวนการนำสืบเข้ามาในสำนวนคดดีนั้นถูกต้องตามหลักกฎหมายว่าด้วยพยานหลักฐานจึงจะสามารถนำมาใช้วินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในทางคดีเพื่อพิจารณาว่าจำเลยผิดหรือบริสุทธิ์
            2.การรับฟังข้อเท็จจริงตาม ประมวลกฎหมาอาญา มาตรา 56 เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องโทษและวิธีการที่จะดำเนินการแก่จำเลยทำนั้น ไม่ใช้การรับฟังเพื่อพิจารณาว่าจำเลยทำผิดหรือบริสุทธิ์ ศาลจึงมีอำนาจในการรับฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวนได้แม้ไม่ผ่านขั้นตอนการสืบพยานในศาล
            3. เมื่อกฎหมายให้อำนาจศาลในการรับฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวนได้ เป็นมาตรฐานขั้นต่ำในการรับฟังข้อเท็จจริง ดังนี้เมื่อข้อเท็จจริงนั้นได้จากพยานหลักฐานในสำนวนย่อมมีมาตรฐานที่สูงกว่า

            5.คำถาม ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นทั้งบทลงโทษและกำหนดโทษ แต่ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินสองปี ดังนี้ โจทก์จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้หรือไม่

คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
ฎ. 10129/2559 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,371 ประกอบมาตรา 83 เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 รวมจำคุก 3 ปี 9 เดือน และปรับ 25 บาท เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 5 จังหวัดอุบลราชธานี มีกำหนดขั้นต่ำ 1 ปี 6 เดือน ขั้นสูง 2 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 จำคุก 7 วัน โทษจำคุกให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปีและกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยไว้ 1 ปี ยกฟ้องข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น และร่วมกันพาอาวุธไปในเมืองหมู่บ้านและทางสาธารณะโดยเปิดเผยและโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นการแก้ทั้งบทลงโทษและกำหนดโทษอันเป็นการแก้ไขมาก แต่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี ต้องห้ามไม่ใช้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

สะกิดต่อมกฎหมาย : แก้ไขมาก

            1.แก้ทั้งบท แก้ทั้งโทษ ซึ่งการแก้บทลงโทษนั้น หมายถึง การเปลี่ยนบทลงโทษจากบทหนึ่งไปเป็นอีกบทหนึ่งหรือเป็นการแก้วรรคในบทเดิมซึ่งความผิดแต่ละวรรคมีโทษขั้นต่ำและขั้นสูงแตกต่างกันมาและลักษณะความผิดในแต่ละวรรคนั้นก็ต่างกัน เช่น ความผิดในวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้และอีกวรรคหนึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน
            2.แก้เรื่องรอการลงโทษ ไม่ว่าจะแก้จากรอกการลงโทษเป็นไม่รอการลงโทษ หรือแก้จากไม่รอการลงโทษ เป็นให้รอการลงโทษ
            3.แก้จากโทษปรับสถานเดียว เป็นจำคุกแล้วเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน
            4.แก้ว่าให้เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลย ไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน


#สะกิดต่อมกฎหมาย


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อาวุธ ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา

การรับมรดกความในคดีอาญา

หลักการแปลงหนี้ใหม่