สะกิดหลักฎีกาปัง ฎ.22788/2555


“ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งกัน ทายาทคนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกได้ แม้จะล่วงพ้นกำหนดอายุความมรดก โดยอายุความ คือระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้ใช้สิทธิเรียกร้อง สิทธิฟ้องคดี หากปล่อยเนิ่นนานไปจนล่วงระยะเวลาแล้ว สิทธิเช่นว่านี้จะเป็นอันยกขึ้นอ้างไม่ได้ ทั้งนี้ อายุความย่อมเป็นโทษสำหรับเจ้าหนี้ที่ปล่อยปละละเลยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องของตน จนกระทั้งล่วงเลยอายุความที่กำหนดไว้ ซึ่งส่งผลให้ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ได้
ดังนั้น การที่ลูกหนี้ชำระหนี้(กระทำการ งดเว้นกระทำการ ส่งมอบทรัพย์สิน) เมื่อหนี้ขาดอายุความ จึงเป็นการสละประโยชน์แห่งอายุความแล้วอย่างหนึ่ง ซึ่งการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความแล้วนั้น ไม่ว่ามากน้อยเพียงใด จะเรียกคืนไม่ได้ แม้ว่าผู้ชำระหนี้จะไม่รู้ว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วก็ตาม ซึ่งการชำระหนี้ของลูกหนี้ยังหมายความรวมถึงการรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นหนังสือ หรือโดยการให้ประกันด้วย”
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22788/2555
ป.พ.พ. มาตรา 193/10, 193/24, 1748 วรรค หนึ่ง1754 วรรค ท้าย
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยกับทายาทอื่นครอบครองที่ดินพิพาทไว้อันเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง ถือว่าครอบครองแทนโจทก์ซึ่งเป็นทายาทด้วย เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยและทายาทอื่นเข้าครอบครองทำกินในทรัพย์มรดกก่อนนายเจิดเจ้ามรดกตาย และภายหลังจากเจ้ามรดกตายก็ยังครอบครองทรัพย์มรดกนับแต่เจ้ามรดกตายเกิน 10 ปี แล้ว โดยโจทก์ไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่แรก เช่นนี้ การที่จำเลยให้การต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์โดยนำพยานหลักฐานมาสืบให้ได้ความแน่ชัดว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกซึ่งมีจำเลยกับทายาทอื่นครอบครองแทนโจทก์ แต่ตามทางนำสืบของโจทก์นอกจากไม่มีพยานหลักฐานมาสนับสนุนข้อกล่าวอ้างแล้ว โจทก์ยังเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านรับว่ามีบ้านปลูกอยู่บนที่ดินพิพาท 3 หลัง เป็นของจำเลย นายชน และบุตรของนายชน คนละ 1 หลัง อันเป็นการเจือสมกับข้อต่อสู้ของจำเลย พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกับทายาทอื่นครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทจากจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเจิดซึ่งละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล จึงไม่อยู่ในบังคับอายุความมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 และการที่จำเลยยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก กับเบิกความรับว่าโอนทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นชื่อจำเลยเพื่อแบ่งปันแก่ทายาทเท่ากับเป็นการสละประโยชน์แห่งอายุความนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ไม่เคยครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกันระหว่างทายาท จึงมิใช่กรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1747 ที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกได้แม้พ้นกำหนดอายุความมรดก สิทธิเรียกร้องของโจทก์ให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกซึ่งเป็นคดีมรดกเช่นนี้จึงอยู่ในบังคับอายุความมรดกตามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 การที่โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย ย่อมต้องห้ามมิให้ฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคท้าย และสิทธิในทรัพย์มรดกดังกล่าวย่อมตกแก่จำเลยผู้สืบสิทธินายเต่ง ซึ่งเป็นทายาทของนายเจิดเจ้ามรดกโดยสมบูรณ์ การที่จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกในเวลาต่อมาก็เพื่อจะดำเนินการให้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนให้ได้สิทธิโดยสมบูรณ์ในที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกเท่านั้น หาใช่เพื่อประโยชน์แก่โจทก์ซึ่งสิ้นสิทธิในการฟ้องคดีเกี่ยวกับทรัพย์มรดกไปโดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 แล้วไม่ และแม้จำเลยเบิกความรับว่าเหตุที่โอนทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นชื่อจำเลยเพื่อความสะดวกในการแบ่งมรดกแก่ทายาทของนายเจิดก็ตาม กรณีก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาสละประโยชน์แห่งอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/24 โจทก์จึงไม่อาจยกเอาประโยชน์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/24 และมาตรา 1747 มาอ้างเพื่อเรียกร้องให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกเมื่อล่วงพ้นกำหนดอายุความมรดกตามมาตรา 1754 แล้วได้ จำเลยย่อมมีสิทธิยกอายุความมรดกใช้ยันโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/10 คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในข้ออื่นอีก เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อาวุธ ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา

การรับมรดกความในคดีอาญา

หลักการแปลงหนี้ใหม่