การกระทำที่เกินขอบเขตแห่งการสนับสนุน


"ผู้สนับสนุนมีเจตนาเพียงแต่จะสนับสนุนในการทำร้าย แต่ผู้ลงมือกระทำเกินขอบเขตของเจตนาในการสนับสนุน 
ผู้สนับสนุนต้องรับผิดเพียงใด?"


ศึกษาจากคำพิพากษาฎีกาที่ 6654/2554

ข้อเท็จจริง

1. ผู้เสียหายกับจำเลยที่ 2 มีบ้านเป็นทาวน์เฮ้าส์อยู่ติดกันอันเป็นสถานที่เกิดเหตุคดีนี้ วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 กับพวกไปที่บ้านของจำเลยที่ 2 ส่วนผู้เสียหายกับพวกดื่มสุรากันที่ทำงานของผู้เสียหายก่อนที่
ผู้เสียหายจะกลับบ้าน โดยมีพวกของผู้เสียหายตามไปเพื่อจะรับผู้เสียหายไปตกปลา ต่อมาจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายหลายครั้ง

2. อัยการโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตาม ป.อ. มาตรา 83, 80, 288 ...... ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้อ้างเหตุป้องกัน ส่วนจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ให้การปฏิเสธ เมื่อสืบพยานโจทก์และจำเลยเสร็จแล้ว ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 จำเลยที่ 2 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 86, 391 เรียงกระทงลงโทษ ตาม ป.อ. มาตรา 91 และจำเลยที่ 3 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 10 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานพยายามฆ่า มีกำหนด 6 ปี 8 เดือน และฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจำคุก 1 เดือน รวมจำคุก 6 ปี 9 เดือน และจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 เดือน 

3. โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 ประกอบมาตรา 83 จำคุก 6 เดือน ข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากนี้ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

4. โจทก์และจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ยื่นฎีกา ซึ่งคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกามีประเด็นดังต่อไปนี้

4.1 ประเด็นแรก การที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายหลายครั้ง เป็นการกระทำความผิดฐานใด 
ซึ่งศาลฎีกาพิจารณาประเด็นนี้แล้ว วินิจฉัยว่า ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายมีปากเสียงกับ ว. เรื่อง ว. ใช้น้ำประปากับไฟฟ้าที่ต่อจากบ้านของผู้เสียหายแล้วจำเลยที่ 2 ร้องเฮ้ยเอาเลยพร้อมส่งมีดสปาต้าให้จำเลยที่ 1 เข้ามาฟันผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 ใช้มีสปาต้าอันเป็นอาวุธมีดขนาดใหญ่ฟันผู้เสียหายหลายครั้งที่ไหล่ ที่คอ แสดงว่ามีเจตนาเลือกทำร้ายผู้เสียหายด้วยอาวุธมีดขนาดใหญ่ จงใจมุ่งหมายใช้อาวุธมีดฟันคออันเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย หากผู้เสียหายไม่ยกแขนขึ้นรับจนได้รับอันตรายแก่กาย ผู้เสียหายก็อาจต้องคมมีดถึงแก่ความตายได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงแสดงว่ามีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย เป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น

4.2 ศาลฎีกาได้พิจารณาประเด็นปัญหาต่อไปว่า การที่จำเลยที่ 2 ส่งอาวุธมีดให้จำเลยที่ 1 โดยอ้างว่าเพื่อเจตนาเพียงทำร้ายร่างกาย จำเลยที่ 2 จะเป็นผู้สนับสนุนการกระทำโดยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ส่งอาวุธมีดให้จำเลยที่ 1 เข้าไปฟันผู้เสียหายนั้น จำเลยที่ 2 ทราบแล้วว่ามีดที่ส่งให้จำเลยที่ 1 เป็นมีดขนาดใหญ่ ทำร้ายบุคคลถึงตายได้ ทั้งเป็นการส่งมีดให้ในขณะที่จำเลยที่ 1 พร้อมจะไปเข้าฟันผู้เสียหายในทันที ผลของการใช้มีดขนาดใหญ่เข้าไปมุ่งหมายฟัน
ผู้อื่นเช่นนี้ ย่อมคาดหมายและเล็งเห็นได้ว่าจะเป็นการฟันจนผู้อื่นถึงแก่ความตายได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 แม้หากจะเกินขอบเขตเจตนาของจำเลยที่ 2 โดยเข้าไปฟันผู้เสียหายด้วยเจตนาฆ่า แต่โดยพฤติการณ์ที่ปรากฏจำเลยที่ 2 ย่อมอาจเล็งเห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 จะใช้อาวุธมีขนาดใหญ่นั้น ฟันมุ่งหมายเอาชีวิตของผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิด ในการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่กระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายด้วย

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อาวุธ ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา

การรับมรดกความในคดีอาญา

หลักการแปลงหนี้ใหม่