เดินผ่านที่ดินคนอื่น 10 ปี ได้เป็นทางภาระจำยอม


เดินผ่านที่ดินคนอื่น 10 ปี ได้เป็นทางภาระจำยอม ไม่ว่าจะมีทางออกทางอื่นหรือไม่ก็ตาม ก็ได้สิทธิตามกฎหมายแล้ว

โดยทางกฎหมายนั้น "ทางภาระจำยอม" เกิดขึ้นได้ 2 กรณี คือ

1.โดยนิติกรรม คือการที่คู่กรณีตกลงกัน โดยเจ้าของภารยทรัยพ์ ตกลงจำกัดสิทธิของตน เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินผู้เป็นเจ้าของสามยทรัพย์

2.โดยอายุความ คือการที่ผู้เป็นเจ้าของสามยทรัพย์ ได้ใช้ทรัพย์เพื่อประโยชน์ของตน โดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาให้ได้มาซึ่งภาระจำยอม เป็นเวลา 10 ปี

ดังนั้นหลักการของการได้ทางภาระจำยอมโดยอายุความ จึงพิจารณาได้ว่า...

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
 
ม.1367 อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการให้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น

ม.1401 ภาระจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ

องค์ประกอบของภาระจำยอม
1.ต้องมีอสังหาริมทรัพย์สองอสังหาริมทรัพย์ต่างเจ้าของกัน ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ที่ได้ประโยชน์เป็นสามยทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเสียประโยชน์เรียกว่าภารยทรัพย์
-สามยทรัพย์และภารยทรัพย์ไม่จำเป็นต้องอยู่ติดกัน จะมีอสังหาริมทรัพย์อื่นอยู่ระหว่างกัน หรือจะต้องข้ามทางสาธารณะไปก็ดี ก็อาจเป็นภาระจำยอมได้ (ฎ.1634/20)
-อสังหาริมทรัพย์จะเป็นโรงเรือน ที่ดิน ที่มีโฉนดหรือที่ดินมือเปล่าก็ได้
-จะเป็นที่ดินโฉนดแปลงเดียวกันยังไม่แบ่งแยกโฉนดก็ได้ (ฎ.890/20)

2.เจ้าของอสังหาริมทรัพย์หนึ่งเข้าไปใช้ประโยชน์ในอีกอสังหาริมทรัพย์หนึ่ง โดยเจตนาเอาเป็นภาระจำยอม
-ที่ว่าใช้ประโยชน์คือ ภาระจำยอมโดยอายุความจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเจ้าของอสังหาริมทรัพย์หนึ่งที่เรียกว่าเจ้าของสามยทรัพย์ได้ใช้ประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์อีกอันหนึ่งที่เรียกว่าภารยทรัพย์โดยเจตนาเอาเป็นภาระจำยอม
-การได้ภาระจำยอมนั้น เจ้าของสามยทรัพย์ไม่จำเป็นต้องใช้ด้วยตนเองสามารถให้ผู้เช่าหรือบุคคลใดก็ได้ที่อยู่บนสามยทรัพย์นั้นเป็นผู้ใช้แทน(ม.1387) โดยการนำมาตรา 1368 มาบังคับใช้โดยอนุโลม กรณีเป็นที่เทียบเคียงได้กลับการครอบครองปรปักษ์ คือผู้ครอบครองปรปักษ์ไม่จำเป็นต้องยึดถือเองอาจให้บุคคลอื่นยึดถือแทนก็ได้

Note:การใช้ภารยทรัพย์โดยอาศัยสิทธิเขาหรือโดยถือวิสาสะ ไม่ถือว่าเป็นการใช้โดยมีเจตนาจะให้ได้มาซึ่งภาระจำยอม (ถือวิสาสะ คือ การใช้ความคุ้นเคย ความสนิทสนม ความเป็นญาติ ความเป็นกันเอง)
ถ้าได้ภาระจำยอมมาโดยอายุความ

1.เจ้าของภารยทรัพย์จะปิดทางไม่ได้ หากปิดเมื่อไรก็จะเป็นการละเมิดต่ออีกฝ่าย (เจ้าของสามยทรัพย์ได้สิทธิทันที่ที่ครบหลักเกณฑ์)

2.เจ้าของสามยทรัพย์จะเพิ่มภาระอีกไม่ได้ (ม.1388) หากเป็นการเพิ่มภาระแก่ภารยทรัพย์เกินสมควรก็จะเป็นการละเมิดอีกฝ่าย

3.เจ้าของสามยทรัพย์มีสิทธิรักษาภาระจำยอมไว้โดยข้อให้ไปจดทะเบียนภาระจำยอม ม.1391

อย่างไรเป็นการให้ประโยชน์จากภารยทรัพย์ติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี
1.ที่ว่าใช้ติดต่อกันเป็นเวลา 10 นั้นคือ เจ้าของสามยทรัพย์จะต้องใช้สอยภารยทรัพย์ติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปีจึงจะได้ภาระจำยอมตาม ม. 1401+1382 ไม่ว่าที่ดินภารยทรัพย์จะเป็นที่ดินมีโฉนด(กรรมสิทธิ์)หรือที่ดินมือเปล่า(สิทธิครอบครอง) อายุความได้ภาระจำยอมล้วนมีกำหนด 10 ทั้งสิ้น
2.การจะถือว่าได้ใช้ติดต่อกันนั้น ต้องนำมาตรา 1371 มาบังคับใช้โดยอนุโลมด้วย ถ้าพิสูจน์ได้ว่ามีการใช้ภารยทรัพย์เดียวกันสองคราวให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าได้มีการใช้สอนติดต่อกันตลอดเวลา
3.การที่ผู้ใช้ทางต้องย้ายทางจากที่เป็นอยู่เดิมไปใช้ทางใหม่ในที่ดินแปลงเดียวกันต้องนับระยะเวลาอายุความภาระจำยอมติดต่อกัน
4.ใช้ทางพิพาทเดินผ่านทุกปีนอกจากฤดูทำนา แม้จะไม่ได้ใช้ในฤดูทำนาก็ไม่ทำให้การใช้ทางนั้นขาดตอนไม่ติดต่อกัน (คือถือว่ายังเป็นการใช้ทางพิพาทติดต่อกัน)
5.ผู้รับโอนสามยทรัพย์สามารถนำอายุความภาระจำยอมของผู้โอนมานับรวมกับของตนได้โดยนำมาตรา1385 มาบังคับใช้โดยอนุโลม

Note:1.ใช้ทางภาระจำยอมโดยเข้าใจผิดคิดว่าเป็นทางสาธารณะก็ได้ภาระจำยอมโดยอายุความ เพราะกฎหมายดูการใช้เป็นหลักไม่ได้ดูว่าทรัพย์ที่เป็นภาระจำยอมนั้นเป็นของผู้ใด (คือเป็นที่ดินของคนทั่วไปแต่ไปเข้าใจผิดว่าเป็นของสาธารณะ)

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อาวุธ ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา

การรับมรดกความในคดีอาญา

หลักการแปลงหนี้ใหม่