แปลงหนี้ใหม่


เรื่องเล่านอกสำนวน
ตอน "แปลงร่าง แปลงหนี้"

“การทำหนังสือรับสภาพหนี้โดยบุคคลอื่นทำไมไม่เรียกว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้”

มีข้อพิจารณา ดังนี้
1.คนทำ ไม่มีคุณสมบัติที่จะทำหนังสือหรับสภาพหนี้ได้เนื่องจาก คนที่จะทำหนังสือรับสภาพหนีได้ต้องเป็นตัวลูกหนี้เท่านั้นจึงจะทำได้
2.แต่เป็นหนังสือสัญญาประเภทหนึ่งอันเป็นสัญญาไม่มีชื่อ ซึ่งมีผลบังคับได้ระหว่างคู่สัญญา
3.แล้วเหตุใดจึงไม่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้ฟังมาว่า เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2537 จำเลยได้ทำหนังสือสัญญาตามเอกสารหมาย จ.2 ไว้ต่อโจทก์โดยมีสาระสำคัญว่าจำเลยขอรับสภาพหนี้ต่อโจทก์เนื่องจากนางสาวพเยาว์ แหลมแก้วได้รับสินค้าไปและยังค้างชำระอยู่เป็นจำนวนเงิน 342,100.35 บาท โดยจะนำหลักทรัพย์มาค้ำประกันมูลค่าหนี้ และโจทก์นำคดีมาฟ้องในวันที่ 23 กันยายน 2539

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่าการรับสภาพหนี้เป็นการที่ลูกหนี้รับสภาพต่อเจ้าหนี้ว่าจะชำระหนี้ให้ ดังนั้น การที่จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นลูกหนี้ผูกพันตนเข้าชำระหนี้แก่โจทก์ จึงไม่เป็นการรับสภาพหนี้ ไม่ผลให้อายุความสะดุดหยุดลง

ส่วนจะเป็นการแปลงหนี้ใหม่หรือไม่นั้นเห็นว่า แม้จำเลยทำสัญญาไว้ต่อโจทก์ว่าจะชำระหนี้ซึ่งนางสาวพเยาว์เป็นหนี้โจทก์ให้โจทก์ก็ตาม แต่ตามหนังสือสัญญาเอกสารหมาย จ.2 ไม่ปรากฏว่าโจทก์เจ้าหนี้ได้ตกลงให้หนี้ของนางสาวพเยาว์ระงับไปจึงไม่เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้โดยอาศัยหนังสือสัญญาเอกสารหมาย จ.2 เป็นหลัก แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าเอกสารดังกล่าวเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ ศาลก็มีอำนาจวินิจฉัยว่าหนังสือสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาประเภทใดตามที่ถูกต้องแท้จริงได้

ตามหนังสือสัญญาเอกสารหมาย จ.2 เป็นเพียงแต่จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผูกพันตนเข้าชำระหนี้ที่นางสาวพเยาว์ค้างชำระให้แก่โจทก์ สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งคู่สัญญากระทำด้วยความสมัครใจ เมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้

และเมื่อหนี้ตามสัญญานี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 นับแต่วันที่ 21 กันยายน 2537ซึ่งเป็นวันที่หนี้ถึงกำหนดชำระ ถึงวันฟ้องวันที่ 23 กันยายน 2539 ยังไม่เกิน 10 ปี คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างมาในฎีกาของจำเลยนั้นข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ 

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการสุดท้ายว่า หนังสือสัญญาตามเอกสารหมาย จ.2 มิอาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานเพราะมิได้ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรนั้น เห็นว่า สัญญาดังกล่าวไม่ใช่หนังสือรับสภาพหนี้ดังได้วินิจฉัยมาแล้วและไม่ใช่สัญญาที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ตามความมุ่งหมายแห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 103, 104 และ 108 ดังนั้นแม้เอกสารดังกล่าวจะไม่ปิดอากรแสตมป์ก็ใช้เป็นพยานหลักฐานได้ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น"
(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5303/2545)

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อาวุธ ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา

การรับมรดกความในคดีอาญา

หลักการแปลงหนี้ใหม่