ฉกฉวยเอาซึ่งหน้า (วิ่งราวทรัพย์)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10976/2554
ป.อ. มาตรา 336


ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์เป็นการลักทรัพย์โดยการฉกฉวยเอาซึ่งหน้า หมายถึง "กิริยาที่หยิบหรือจับเอาทรัพย์ไปโดยเร็วรวมเป็นการกระทำอันเดียวกับการเอาไป และขณะที่ถูกเอาทรัพย์ไปผู้นั้นรู้สึกตัวหรือเห็นการฉกฉวยเอาทรัพย์นั้นไปด้วย" การที่จำเลยดึงเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่จากกระเป๋ากางเกงของเด็กหญิง บ. แล้วเด็กหญิง บ. รู้สึกถึงการถูกดึงจึงใช้มือจับจนถูกมือของจำเลย จึงอยู่ในความหมายของการลักทรัพย์โดยการฉกฉวยเอาซึ่งหน้าอันเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตามฟ้องแล้ว


ข้อเท็จจริงแห่งคดี

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 และให้จำเลยคืนโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือใช้ราคา 2,800 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 วรรคแรก จำคุก 3 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 จำคุก 6 เดือน ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติเบื้องต้นว่า มีคนร้ายดึงเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนางละออง ผู้เสียหาย ซึ่งอยู่ในกระเป๋าด้านหลังของกางเกงที่นางสาวบุษรินทร์ บุตรสาวของผู้เสียหายสวมใส่อยู่
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 หรือไม่

 เห็นว่า โจทก์มีเด็กหญิงบุษรินทร์เป็นพยานที่รู้เห็นเหตุการณ์มาเบิกความยืนยัน พยานมีโอกาสเห็นจำเลยก่อนที่จำเลยจะดึงเอาโทรศัพท์ และพยานรู้สึกตัวในทันทีที่จำเลยดึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ พยานจึงเอามือไปจับกระเป๋ากางเกงและยังไปถูกมือของจำเลยด้วย พยานเป็นเด็กอายุเพียง 13 ปี ไม่เคยรู้จักและมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ทั้งในขณะนั้นไม่มีบุคคลอื่นที่อยู่ใกล้ชิดพยานอีกอันจะทำให้เป็นไปได้ว่าคนร้ายเป็นผู้อื่นเพราะเมื่อเกิดเหตุพยานก็ระบุทันทีว่าคนร้ายสวมเสื้อยืดสีเหลืองนุ่งกางเกงขาสั้นลายพรางทหาร ซึ่งจำเลยยอมรับว่าจำเลยแต่งกายลักษณะดังกล่าวและไม่มีบุคคลอื่นแต่งกายคล้ายคลึงกับจำเลย เชื่อว่า พยานปากดังกล่าวรู้สึกตัวขณะจำเลยลักเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ไป

ส่วนผู้เสียหายเบิกความถึงเหตุการณ์ต่อมาว่า เด็กหญิงบุษรินทร์บอกว่าถูกดึงเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ไป และชี้มาที่จำเลยกับบอกลักษณะการแต่งตัวของจำเลยทันที ผู้เสียหายเดินตามจำเลย จำเลยเดินเร็วขึ้น เมื่อผู้เสียหายเดินตามทันและถามจำเลยถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ จำเลยปฏิเสธและรูดซิปเปิดกระเป๋ากางเกงของจำเลยให้ดู 2 ใบ และดูในถุงพลาสติกที่จำเลยถือไม่พบโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็ตาม แต่ก็ได้ความว่าเสื้อและกางเกงของจำเลยมีกระเป๋าหลายใบผู้เสียหายไม่มีโอกาสได้ดูจนทั่ว และเด็กหญิงบุษรินทร์เบิกความว่าเห็นจำเลยเอาโทรศัพท์ไว้แนบที่ขา แต่ไม่ได้มีการค้นหาในตำแหน่งดังกล่าว เมื่อไม่พบโทรศัพท์เคลื่อนที่ผู้เสียหายถามเด็กหญิงบุษรินทร์อีกครั้งหนึ่งว่าจำคนผิดหรือไม่ เด็กหญิงบุษรินทร์ยังยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายและจำคนไม่ผิด การที่ผู้เสียหายเบิกความเช่นนี้ย่อมแสดงว่าในขณะเกิดเหตุนั้นผู้เสียหายไม่ได้คิดปรักปรำจำเลย ทั้งผู้เสียหายไม่เคยรู้จักกับจำเลยมาก่อนและได้ความอีกว่าต่อมาในภายหลังเมื่อบิดาของจำเลยนำเงินมามอบให้ผู้เสียหายจึงทราบว่าบิดาของจำเลยเป็นญาติกับบิดาของผู้เสียหาย การที่ผู้เสียหายคงเบิกความยืนยันตรงกันกับที่ให้การไว้ในชั้นสอบสวน เชื่อว่า ผู้เสียหายเบิกความไปตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ไม่ได้เบิกความปรักปรำให้จำเลยต้องรับโทษ

พยานหลักฐานโจทก์จึงสมเหตุผลมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่ลักเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่จากเด็กหญิงบุษรินทร์ ส่วนพยานหลักฐานจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ ที่จำเลยฎีกาว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งเป็นทรัพย์ถูกประทุษร้ายนั้นมีอยู่จริงหรือไม่เพราะโจทก์ไม่มีใบเสร็จรับเงินการซื้อขายมาแสดง ผู้เสียหายสามารถขอค้นกระเป๋ากางเกงใบอื่นได้ แต่ผู้เสียหายก็ไม่กระทำ และโจทก์ไม่ได้นำนายเต่าผู้ที่เห็นเหตุการณ์มาเบิกความ พยานหลักฐานโจทก์จึงเป็นพิรุธ ปรากฏว่าจำเลยไม่เคยนำสืบโต้แย้งว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งเป็นทรัพย์ที่ถูกประทุษร้ายไม่มีอยู่จริง ส่วนการขอดูกระเป๋ากางเกงจำเลย จำเลยก็นำสืบว่าในขณะนั้นจำเลยให้ผู้เสียหายตรวจดูจนเป็นที่พอใจแล้ว

ส่วนนายเต่าไม่รู้เห็นการกระทำความผิด การที่โจทก์ไม่ได้นำเข้าเบิกความจึงไม่เป็นพิรุธแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดจริงจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาว่า การกระทำของจำเลยไม่ใช่การลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า แต่เป็นการลักทรัพย์ในขณะที่เด็กหญิงบุษรินทร์เผลออันเป็นการลอบลัก จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์เท่านั้น

เห็นว่า ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์เป็นการลักทรัพย์โดยการฉกฉวยเอาซึ่งหน้า ซึ่งหมายถึงกิริยาที่หยิบหรือจับเอาทรัพย์ไปโดยเร็วรวมเป็นการกระทำอันเดียวกับการเอาไป และขณะที่ถูกเอาทรัพย์ไปผู้นั้นรู้สึกตัวหรือเห็นการฉกฉวยเอาทรัพย์นั้นไปด้วย ดังนั้นการที่จำเลยดึงเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่จากกระเป๋ากางเกงของเด็กหญิงบุษรินทร์ แล้วเด็กหญิงบุษรินทร์รู้สึกถึงการถูกดึงจึงใช้มือจับจนถูกมือของจำเลยจึงอยู่ในความหมายของการลักทรัพย์โดยการฉกฉวยเอาซึ่งหน้า อันเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตามฟ้องแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาว่าเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์ไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็แก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 แต่โจทก์ไม่ได้ฎีกาศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขเพิ่มโทษที่ลงแก่จำเลยได้

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 วรรคแรก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา ๓๓๖  ผู้ใดลักทรัพย์โดย ฉกฉวย เอาซึ่งหน้ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

ถ้าการวิ่งราวทรัพย์ เป็นเหตุให้ ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท

ถ้าการวิ่งราวทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หกพันบาทถึงสองหมื่นบาท

ถ้าการวิ่งราวทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท


อธิบาย

  1. ความผิดตามมาตรานี้เป็นการลักทรัพย์ตามมาตรา 334 ซึ่งมีเหตุทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้นเพราะลักษณะของการกระทำคือเอาทรัพย์ไปโดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า ไม่ใช่กรณีที่ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้นเพราะข้อเท็จจริง ซึ่งผู้กระทำต้องรู้ตามมาตรา 62 วรรคท้าย หรือผลของการกระทำตามมาตรา 63
        2. ฉกฉวย  มีความหมายยิ่งไปกว่ากิริยาที่เป็นแต่เพียงการเอาทรัพย์ไปซึ่งหน้าเท่านั้น  คำว่า “ฉกฉวย พาหนีไปต่อหน้า จึงมีหมายความไปทำนองเดียวกันว่า คว้า จับ หยิบเอา โดยเร็ว ในลักษณะที่ไม่แกรงกลัวต่ออำนาจการครอบครองทรัพย์
  • การลอบเอาทรัพย์ไปโดยไม่ให้เจ้าทรัพย์เห็น หรือใช้อุบายขอรับเอาทรัพย์มาไว้ในมือก่อน หรือเอาไปตอนเผลอ ไม่เป็นการฉกฉวย

        3.ซึ่งหน้า มีความหมายกว้างกว่าแค่ต่อหน้าต่อตา แต่ยังหมายความรวมถึงการฉกฉวยเอาทางด้านหลังได้ด้วย หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ “การฉกฉวยเอาทรัพย์ไปโดยความรับรู้ของเจ้าทรัพย์”

  • (เอื้อมให้ถึง).....และ “อยู่ในระยะที่เจ้าทรัพย์สามารถจะขัดขวางคุ้มครองทรัพย์ที่อยู่ต่อหน้านั้นได้ด้วย”
       4. ความในวรรค 2 ,3 และ 4 เป็นเหตุทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น โดยอาศัยผลแห่งการกระทำตามมาตรา 63 ซึ่งต้องเป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้  และผู้อื่นที่ได้รับอันตรายนี้ไม่หมายความถึงผู้ที่ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อาวุธ ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา

การรับมรดกความในคดีอาญา

หลักการแปลงหนี้ใหม่