รีดเอาทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12685/2558
ป.อ. มาตรา 338

การขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 338 หมายความว่า “การขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยเหตุการณ์ข้อเท็จจริงที่ไม่ประจักษ์แก่บุคคลทั่วไป และเป็นข้อเท็จจริงที่เจ้าของความลับประสงค์จะปกปิดไม่ให้บุคคลอื่นรู้”  ดังนี้ ความลับจึงไม่จำเป็นต้องเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือผิดศีลธรรมอันดีของประชาชน หากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและเจ้าของข้อเท็จจริงประสงค์จะปกปิดไม่ให้บุคคลอื่นรู้ก็ถือว่าเป็นความลับแล้ว เมื่อฎีกาของจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงว่าจำเลยมีภริยาอยู่แล้ว แต่จำเลยกับผู้เสียหายสมัครใจมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกันมาประมาณ 1 ปี ข้อเท็จจริงที่จำเลยกับผู้เสียหายมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกันจึงเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริง เมื่อเป็นการกระทำที่ผิดศีลธรรมอันดีของประชาชน แสดงว่าผู้เสียหายประสงค์จะปกปิดไม่ให้บุคคลอื่นโดยเฉพาะภริยาจำเลยรู้เรื่องดังกล่าว เรื่องนั้นจึงเป็นความลับของผู้เสียหาย การที่จำเลยขู่เข็ญผู้เสียหายว่าหากผู้เสียหายไม่นำเงินจำนวน 20,000 บาท มาให้จำเลย จำเลยจะนำเรื่องความสัมพันธ์ฉันชู้สาวระหว่างจำเลยซึ่งมีครอบครัวแล้วกับผู้เสียหายไปเปิดเผยต่อบุคคลอื่น จึงเป็นการขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับของผู้เสียหาย ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 338

ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา ๓๓๘
 "ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่น ให้ยอมให้ หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยขู่เข็ญว่าจะเปิดเผย ความลับซึ่งการเปิดเผยนั้นจะทำให้ผู้ถูกขู่เข็ญหรือบุคคลที่สามเสียหาย จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ ต้องระวางโทษ...."


ความลับ หมายความว่า "เหตุการณ์ข้อเท็จจริงที่ไม่ประจักษ์แก่คนทั่วไป และเป็นข้อเท็จจริงที่เจ้าของประสงค์จะปกปิด"

ความลับ อาจเป็นข้อเท็จจริงที่บุคคลหลายคนได้ทราบแล้ว แต่ถ้าผู้ที่ทราบข้อเท็จจริงเหล่านั้นเป็นบุคคลในวงจำกัดที่เกี่ยวข้องควรทราบข้อเท็จจริงนั้น หรือมีคนบางคนแอบรู้มา ไม่ใช่รู้กันทั่วไป ข้อเท็จจริงนั้นก็ยังคงเป็นความลับอยู่

ความลับ ไม่จำต้องเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายหรือศีลธรรม ถ้าเป็นข้อเท็จจริงที่ปกปิดก็เป็นความลับได้ ซึ่งต้องมีข้อความที่เป็นความลับอยู่จริง มิใช่เพียงแต่ขู่ว่าจะกล่าวข้อความแสดงเหตุการณ์อันใดอันหนึ่ง ซึ่งเหตุการณ์นั้นไม่มีอยู่จริง เป็นแต่ตกแต่งขึ้น

เปิดเผย หมายความว่า "แสดงต่อคนที่ยังไม่รู้ ให้ได้รู้ข้อความที่ปกปิดนั้น ซึ่งกฎหมายมิได้จำกัดว่าเปิดเผยต่อใคร แต่ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยต่อประชาชนทั่วไป แม้จะเปิดเผยต่อคนบางคนที่ยังไม่รู้ข้อความนั้นคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ชื่อว่าเปิดเผย"

แต่ถ้าบุคคลที่จะได้รับทราบข้อความบังเอิญได้ทราบข้อความนั้นอยู่ก่อนแล้วก็ไม่เป็นการเปิดเผย
การแสดงข้อความต่อคนที่รู้เห็นอยู่แล้ว แต่รู้ไม่ชัดให้ได้รู้ชัดเจนขึ้นก็เป็นการเปิดเผย

อย่างไรก็ดี การกระทำที่มีการขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับ แม้บังเอิญผู้ที่จะได้รับทราบได้ทราบความลับอยู่ก่อนแล้วก็ไม่เป็นข้อสำคัญอย่างใด

ความเสียหาย ความลับที่จะเปิดเผยต้องมีลักษณะที่การเปิดเผยจะทำให้ “เกิดความเสียหายแก่ผู้ถูกขู่เข็ญ หรือบุคคลที่สาม” ความเสียหายนี้ไม่ได้จำกัดว่าเสียหายต่ออะไร จึงอาจเป็นความเสียหายต่อกาย หรือจิตใจ ต่อเสรีภาพ ต่อชื่อเสียง ทรัพย์สิน หรือสิทธิที่มิใช่ทรัพย์สินก็ได้ทั้งสิ้น ซึ่งไม่เหมือนกับประโยชน์ที่จะเรียกเอาซึ่งต้องมีลักษณะเป็นทรัพย์สิน

ความเสียหายนี้ จะเกิดแก่ตัวผู้ถูกขู่เข็ญเองหรือต่อบุคคลที่สามก็ได้ ฉะนั้นความลับที่จะเปิดเผยจึงอาจเป็นความลับของตัวผู้ถูกขู่เข็ญเองหรือบุคคลที่สามก็ได้

ตัวบุคคลที่สามที่จะได้รับความเสียหายนั้นไม่มีข้อจำกัดว่าต้องเกี่ยวพันกับผู้ถูกขู่เข็ญอย่างไรหรือไม่ ฉะนั้นจึงเป็นใครก็ได้ ความสำคัญคงจะอยู่ที่ผู้กระทำได้ประโยชน์ตามที่ขู่ไปเพราะการขู่เข็ญหรือไม่ คือต้องเป็นผลจากการขู่เข็ญ มิใช่เพราะความสงสาร รำคาญ หรือเหตุอื่นซึ่งไม่ใช่เพราะกลัวความลับจะถูกเปิดเผย


แต่ผู้ถูกขู่เข็ญกับผู้ที่ต้องให้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินต้องเป็นบุคคลเดียวกัน ส่วนผู้รับประโยชน์จะเป็นตัวผู้กระทำหรือบุคคลที่สามก็ได้

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อาวุธ ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา

การรับมรดกความในคดีอาญา

หลักการแปลงหนี้ใหม่