เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ชำระหนี้พร้อมค่าเสียหายได้

เจ้าหนี้จะมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้พร้อมทั้งเรียกค่าเสียหายได้ด้วยซึ่งแล้วแต่เจ้าหนี้จะเลือกใช้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 

คือ เรียกให้ชำระหนี้และเรียกค่าเสียหาย

"ถ้าลูกหนี้ละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตน เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่ง่บังคับชำระหนี้ก็ได้ เว้นแต่สภาพแห่งหนี้จะไม่เปิดช่องให้ทำเช่นนั้นได้
   อนึ่งบทบัญญัติในวรรคทั้งหลายที่กล่าวมานั้น หากระทบกระทั่งถึงสิทธิที่จะเรียกเอาค่าเสียหายไม่"

หรือเจ้าหนี้ก็ยังสามารถใช้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 391

    "เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม...
       การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้น หากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่"

คือ บอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหาย

1.เมื่อเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องนั้น เจ้าหนี้จะต้องใช้สิทธิโดยสุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 5
 2.เมื่อเจ้าหนี้เรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นหนทางที่ลูกหนี้สามารถปฏิเสธไม่ชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ได้ มีสาระสำคัญหลายเรื่องด้วยกัน สำหรับวันนี้ จะนำเสนอหลักการปฏิเสธไม่ชำระหนี้ของลูกหนี้โดยอ้างว่าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย  
3.เป็นการศึกษาวิเคราะห์จากคำพิพากษาฎีกาที่ 12048/2553

ฎีกาที่ 12048/2553
 ข้อเท็จจริง
1. เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2533 จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 6025 แขวงช่องนนทรีย์ เขตยานนาวา กรุงเทพฯ เนื้อที่ 5 ไร่ 53 ตารางวา ของโจทก์มีกำหนด 30 ปี โดยจดทะเบียนการเช่าต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ต่อมาที่ดินที่จำเลยเช่าบางส่วนเนื้อที่ 3 งาน 77 ตารางวา ถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินบริเวณที่จะเวนคืน.... พ.ศ. 2541  
2. ต่อมา วันที่ 26 พฤษภาคม 2543 โจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับกรมโยธาธิการ โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนบางส่วนยังขาดอีก 6,200,000 บาท โจทก์แจ้งให้จำเลยไปจดทะเบียนยกเลิกการเช่าที่ดินในส่วนที่ถูกเวนคืนเพื่อโจทก์จะจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนและรับเงินค่าทดแทนส่วนที่เหลือแต่จำเลยเพิกเฉยโจกท์จึงบอกเลิกสัญญาเช่าที่ดินในส่วนที่ถูกเวนคืนและได้ยื่นฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยไปจดทะเบียนยกเลิกการเช่าที่ดินที่ถูกเวนคืนและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3.25 ต่อปีของต้นเงิน 6,200,000 บาท  
3. ประเด็นขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาว่า จำเลยต้องไปจดทะเบียนยกเลิกการเช่าที่ดินตามฟ้องหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยเป็นดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารได้หรือไม่ ศาลฎีกาได้พิจารณาแล้ววินิจฉัย ดังนี้  
3.1 ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ดินที่จำเลยเช่าบางส่วนเนื้อที่ 3 งาน 77 ตารางวา ถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินบริเวณที่จะเวนคืน ฯ พ.ศ. 2541 โจทก์จึงถูกบังคับตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว การที่โจทก์ไปทำสัญญาซื้อขายที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนกับกรมโยธาธิการผู้ซื้อก็เพื่อจะได้รับค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืน ฯ ตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 กำหนดไว้ ดังนั้น ตามสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนมิใช่เป็นกรณีที่โจทก์จะไปทำสัญญาหรือไม่ก็ได้  
3.2 ศาลฎีกามีความเห็นต่อไปว่า เมื่อที่ดินที่จำเลยเช่าบางส่วนจากโจทก์ถูกเวนคืนทำให้การชำระหนี้ตามสัญญาเช่าของโจทก์ในฐานะผู้ให้เช่ากลายเป็นพ้นวิสัยบางส่วน จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่า และเมื่อจำเลยประสงค์จะเช่าที่ดินส่วนที่เหลือต่อไปและโจทก์มีหน้าที่ไปจดทะเบียนแบ่งขายที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนแต่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากจำเลยในฐานะผู้เช่าเพิกเฉยไม่ไปจดทะเบียนยกเลิกการเช่าที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืน  
3.3ศาลฎีกาวินิจฉัยต่อไปว่าเมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนแล้ว โจทก์ย่อมขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนยกเลิกการเช่าได้ การเพิกเฉยของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่ได้รับค่าทดแทนส่วนที่เหลือจำนวน 6,200,000 บาท ซึ่งเงินค่าทดแทนในส่วนนี้ ถึงแม้ว่ากรมโยธาธิการจะได้นำไปวางทรัพย์ไว้ที่ธนาคารออมสินโดยมีดอกเบี้ยเงินฝากด้วยก็ตามก็เป็นเรื่องของกรมโยธาธิการในฐานะผู้ซื้อจะดำเนินการโดยมีเงื่อนไขว่าค่าทดแทนส่วนนี้จะจ่ายได้ต่อเมื่อได้มีการดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมแล้ว ซึ่งโจทก์ในฐานะผู้ขายจะได้รับเงินค่าทดแทนพร้อมดอกเบี้ยก็ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแล้ว ดังนั้น ดอกเบี้ยเงินฝากที่โจทก์จะได้รับจากธนาคารออมสินจึงเป็นคนละส่วนกับค่าเสียหายที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลย ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยในอัตราเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในขณะนั้นคืออัตราร้อยละ 3.25 ต่อปีได้  

หมายเหตุ
1. ให้สังเกตว่า คดีนี้ โจทก์ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยชอบ
2. ให้สังเกตว่าโจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายซึ่งเป็นค่าเสียหายของหนี้เงินซึ่ง
โดยปกตินั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 กฎหมายสันนิษฐานว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่คดีนี้ โจทก์เรียกค่าเสียหายมาอัตราร้อยละ 3.25 ต่อปี
3. คำว่า การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย ตามที่ศาลฎีกาได้กล่าวไว้ในฎีกา12048/2553 หมายความว่า การชำระหนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้หรือเป็นไปไม่ได้หรืออีกนัยหนึ่งไม่อาจชำระหนี้ให้สำเร็จตามวัตถุแห่งหนี้ได้  
4. การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย ตาม ป.พ.พ. เรียกว่าพฤติการณ์ซึ่งทำให้การชำระหนี้เป็นอันพ้นวิสัย แบ่งเป็น 3 กรณีด้วยกัน คือ เรื่องตัวทรัพย์ เรื่องตัวคน และเรื่องตัวกฎหมาย
4.1 ถ้าเป็นเรื่องตัวทรัพย์ เรียกว่า เป็นการพ้นวิสัยทางวัตถุ เช่น ทรัพย์นั้นสูญหายหรือถูกทำลายไปทั้งหมด หรือในส่วนที่สำคัญ และในกรณีเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ แต่ปรากฏว่าทรัพย์นั้นได้โอนไปยังผู้อื่นโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว พฤติการณ์เช่นนี้เรียกว่าเป็นการพ้นวิสัยทางวัตถุ
4.2 ตัวคน การพ้นวิสัยอันเกิดจากตัวคนนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อสัญญาว่าจ้างซื่งลูกหนี้จะต้องปฏิบัติการชำระหนี้ด้วยตนเอง ครั้นต่อมาลูกหนี้ได้ตายหรือพิการจนไม่สามารถชำระหนี้ได้เช่นนี้เรียกว่าเป็นการพ้นวิสัยจากตัวคน
4.3การพ้นวิสัยอันเกิดจากตัวกฎหมายจะเกิดขึ้นเมื่อมีกฎหมายห้ามหรือกฎหมายบังคับ ดังนั้น ตามฎีกาที่ 12048/2553 การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยต้องถือว่าเกิดจากตัวกฎหมาย  
5. ผลของการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยตาม ป.พ.พ. นั้น จะมีการกล่าวถึงการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย 2 ช่วงเวลาด้วยกัน และจะเกิดผลทางกฎหมายแตกต่างกันออกไปดังนี้ คือ
5.1 การพ้นวิสัยแรกเริ่มหรือเป็นการพ้นวิสัยก่อนเกิดสัญญา จะมีผลให้นิติกรรมมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการพ้นวิสัย เป็นผลให้สัญญาเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ไม่ก่อให้เกิดหนี้ต่อกันคู่กรณีไม่ต้องรับผิดใดๆ ต่อกันเลย
5.2 การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยภายหลังเกิดสัญญาแล้วตาม ป.พ.พ. เรียกว่าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย มีผลให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อาวุธ ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา

การรับมรดกความในคดีอาญา

หลักการแปลงหนี้ใหม่