ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 "เจ้าพนักงานกรรโชกทรัพย์"

 


มาตรา 148 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจ หรือจูงใจ เพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด แก่ตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต

องค์ประกอบความผิดภายนอก

1. ผู้กระทำความผิด คือ “เจ้าพนักงาน” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (16) ที่บัญญัติว่า เจ้าพนักงาน หมายความว่า บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงาน หรือได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าจะเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ ซึ่งเจ้าพนักงานผู้ใช้อำนาจตามหมายของมาตรานี้ คือเจ้าพนักงานที่กฎหมายได้กำหนดหน้าที่ตามตำแหน่งราชการนั้น ๆ ไว้แล้ว หรือจะเรียกอย่างให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า “ตำแหน่งหน้าที่” จึงได้มีการให้อำนาจเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติราชการตามตำแหน่งหน้าที่ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ อย่างเช่น พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ในเมื่อทำการอันเกี่ยวกับการจับกุมปราบปรามผู้กระทำความผิด ที่ตนมีหน้าที่ต้องจับกุมหรือปราบปราม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจึงได้บัญญัติเครื่องมือสำหรับการกระทำการตามหน้าที่ไว้ ในส่วนของ การออกหมายเรียก การจับ การค้น การควบคุม การแสวงหาข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานไว้ จึงสรุปได้ว่าการที่จะได้ความชัดเจนว่าเจ้าพนักงานผู้นั้นได้ใช้อำนาจในตำแหน่งเรื่องใด จึงต้องกลับมาพิจารณาที่จุดเริ่มต้นกันเสียก่อนว่าเจ้าพนักงานผู้นั้นมีตำแหน่งหน้าที่ในการปฏิบัติราชการอย่างไร เพราะหากเป็นเรื่องที่นอกเหนือตำแหน่งหน้าที่แล้วสิ่งที่เจ้าพนักงานผู้นั้นใช้กระทำความผิดก็ไม่ใช่เรื่องของการใช้อำนาจในตำแหน่ง และหากเป็นกรณีเจ้าพนักงานผู้ไม่มีหน้าที่ในตำแหน่งที่จะใช้อำนาจนั้น ๆ หรือกรณีราษฎรหรือผู้อื่นที่ร่วมกระทำความผิดกับเจ้าพนักงาน จึงเป็นเพียงผู้สนับสนุนตามมาตรา 148 ประกอบมาตรา 86 (1254/2502,1230/2510)

2.การกระทำ คือ “ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ” หมายถึง ใช้อำนาจในตำแหน่งของตน แต่ใช้โดยมิชอบ เช่น มีตำแหน่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจฝ่ายปราบปราม ใช้อำนาจในตำแหน่งนั้นจับกุมผู้ที่ไม่ได้กระทำความผิดเพื่อเรียกเอาทรัพย์สิน มีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีใช้อำนาจในตำแหน่งนั้นเรียกรับผลประโยชน์ ผิดฐานนี้

การใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ เช่น จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีหน้าที่จับกุมผู้กระทำความผิดกฎหมายได้ทั่วราชอาณาจักร ใช้อำนาจในตำแหน่งแกล้งกล่าวหาผู้เสียหายว่ากระทำผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ โดยผู้เสียหายมิได้กระทำผิด จำเลยกล่าวหาเช่นนั้นเพื่อมิใช้ผู้เสียหายขัดขวางในการที่จำเลยกับพวกยึดเอาเลื่อยยนต์ของผู้เสียหายไป การกระทำของจำเลยถือว่าเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมมอบทรัพย์สินของผู้เสียหายให้แก่จำเลยกับพวกนั้นเอง จึงเป็นความผิดตามาตรา 148 (1085/2536) จำเลยเป็นตำรวจประจำอยู่ในกรุงเทพฯ พากันไปแกล้งจับผู้เสียหายที่จังหวัดนครนายก หาว่าเล่นสลากกินรวบ ขอค้นบ้านแล้วงัดลิ้นชัดโต๊ะหยิบเอาเงินและปืนไปเพื่อประโยชน์แก่ตนดังนี้ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 แล้ว ( ป.1389/2506) จำเลยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ข่มขืนใจและจูงใจให้เจ้าพนักงานที่ดินให้ออกโฉนดที่ดินให้แก่บริษัทที่ตัวเองถือหุ้นอยู่ มีความผิดตามาตรา 148 (อม.2/2551) จำเลยที่ ๑ เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีถือเป็นเจ้าพนักงานตาม พรบ. ระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 4 (10) ได้จูงใจและข่มขืนใจให้สาธารณสุขจังหวัดซื้อยาและเวชภัณฑ์จากบริษัทแห่งหนึ่งซึ่งแพงว่าราคาปกติหรือมิฉะนั้นก็ขอเงินสวัสดิการให้แก่ผู้ใหญ่ 15 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณที่ได้รับ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามมาตรา 148 และเมื่อเป็นความผิดตามมาตรา 148 ซึ่งเป็นความผิดเฉพาะแล้ว ไม่ต้องปรับมาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก ( อม.1/2545)

ถ้าเป็นการใช้อำนาจนอกตำแหน่งหน้าที่ของตน ก็ไม่ถือเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งไม่มีความผิดฐานนี้ เช่น จำเลยมีตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่หมู่ที่ ๑ แต่ไปแกล้งจับกุมผู้เสียหายในหมู่ที่ ๒ ไม่ถือเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่ ไม่ผิดฐานนี้ แต่ก็ผิดฐานกรรโชกได้ (เทียบ ๕๑๓/๒๔๗๐) จำเลยเป็นเจ้าพนักงานที่ดิน มีหน้าที่ในเรื่องจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม แต่การที่จำเลยแนะนำผู้เสียหายว่าจะต้องมีการร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกก่อนและรับติดต่อทนายความให้ ไม่เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ และไม่เป็นการปฏิบัติการหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่ผิดมาตรา 148 และมาตรา 157 (2389/2547) การที่เจ้าพนักงานหลอกลวงเอาเงินประชาชน ไม่ถือเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 148 แต่ผิดฐานฉ้อโกง (2645/2527)

การใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ จะต้องกระทำโดยการ “ข่มขืนใจ” คือ บังคับใจผู้อื่นโดยผู้อื่นไม่ยินยอม เช่น แกล้งจับกุมผู้เสียหายและแจ้งข้อหาลักรถซึ่งไม่เป็นความจริง ข่มขืนใจเรียกเงิน เมื่อได้รับเงินแล้วปล่อยตัวไป ผิดมาตรา 148 (3861/2528) ถ้าไม่ให้เงินจะทำการจับกุมหญิงที่รับจ้างค่าประเวณี โดยไม่ปรากฎว่ามีการค้าประเวณีกันจริง เป็นการข่มขืนใจผิดมาตรา 148 (753/2539) จำเลยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยกดดันให้เจ้าพนักงานที่ดินให้ออกโฉนดที่ดิน เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้อง ทั้งยังไปข่มขู่เจ้าพนักงานที่ดินถึงห้องทำงาน และโยกย้ายลดขั้นผู้ที่ไม่ให้ความร่วมมือ ต่อมาเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินลงนามออกฉโฉนดแล้ว จำเลยมอบพระเครื่องผงสุพรรณเลี่ยมทองคำคนละ 1 องค์ นอกจากนี้ยังโทรไปเร่งรัดประธาน อบต. คลองด่านให้ทำเรื่องขออนุญาตใช้พื้นที่ก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย ถือว่าจำเลยใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจหรือจูงใจเจ้าพนักงานที่ดินให้ออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยในนามบริษัทฯ จำเลยมีความผิดตามมาตรา 148 (อม.2/2551)

ส่วนการ “จูงใจ” ก็คือ โน้มน้าวใจผู้อื่นเพื่อให้ยอมกระทำตามที่ตนต้องการ เช่น ตำรวจแกล้งจับกุมผู้ที่ไม่ได้กระทำผิด แล้วข่มขืนใจเรียกรับเงิน ผิดมาตรา 148 (1663/2513)

ถ้าเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบแล้ว เช่น จับกุมผู้กระทำความผิดจริง ๆ แล้วเรียกทรัพย์สินจากการใช้อำนาจนั้น เจ้าพนักงานไม่ผิดมาตรา 148 เพราะมาตรา 148 จะต้องเริ่มต้นจากการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ แต่ผิดมาตรา 149 เพราะเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยชอบตั้งแต่เริ่มแรก

แต่ในบางกรณีเจ้าพนักงานกระทำความผิดทั้งสองข้อหาพร้อมกันได้ เช่น เจ้าพนักงานเรียกเก็บเงินจากคนขับรถบรรทุกโดยไม่เลือกว่าคนขับเหล่านั้นได้กระทำผิดกฎหมายหรือไม่ ถือว่าใช้อำนาจาในตำแหน่งโดยชอบตามมาตรา 148 (เพราะจับคนไม่ผิด) และถ้าคนขับคนใดกระทำผิดกฎหมายจริง ก็จะเรียกเงินแล้วปล่อยตัวไปเป็นความผิดตามมาตรา 149 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน (3309/2541)

องค์ประกอบความผิดภายใน นอกจากเจตนาธรรมดาแล้ว ผู้กระทำยังต้องมีเจตนาพิเศษ “เพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น” ฉะนั้น เมื่อใช้อำนาจโดยมิชอบข่มขืนใจหรือจูงใจโดยมีเจตนาพิเศษดังกล่าว ก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องได้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดนั้น เช่น แกล้งกล่าวหาแล้วเรียกเงินแม้ผู้เสียหายจะไม่มีให้ ก็เป็นความผิดสำเร็จ (599/2505)

มาตรา 148 เกี่ยวข้องอย่างไรกับมาตรา 337

เจ้าพนักงานข่มขืนใจโดยขู่ว่าจะจับกุมผู้ที่ไม่ได้กระทำความผิด หากไม่ส่งมอบทรัพย์สินให้ ถือว่าเป็นการข่มขืนในผู้อื่นให้ยอมให้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินโดยขู่ว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพตามมาตรา 337 ด้วย เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษมาตรา 148 ซึ่งเป็นบทหนักสุด (มาตรา 148 -ประหารชีวิติ) (824/2506) ข่มขืนใจแล้ว ผู้เสียหายไม่ยอกตามที่ถูกข่มขืนใจ ผิดสำเร็จเฉพาะมาตรา 148 แต่เป็นพยายามกรรโชก ตามมาตรา 337 ประกอบมาตรา 80 (2573/2553)

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4789/2565

ป.อ. มาตรา 148, 149, 157

ป.วิ.อ. มาตรา 192, 215, 225

การที่จะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149 จะต้องได้ความว่าเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม ส. โดยชอบ กล่าวคือ จับกุมขณะ ส. กำลังเล่นการพนัน แล้วหลังจากนั้นจึงเรียกรับเงินจาก ส. เพื่อที่จะไม่ดำเนินคดี เมื่อจำเลยกับพวกไม่พบการเล่นการพนันไฮโลในที่เกิดเหตุ การจับกุม ส. จึงเป็นการจับกุมโดยมิชอบ แม้จะมีการเรียกรับเงินจาก ส. การกระทำของจำเลยกับพวกก็ไม่อาจเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149 ได้ คงเป็นความผิดตามมาตรา 148 แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องขอลงโทษในความผิดฐานดังกล่าว จึงไม่อาจลงโทษจำเลยได้เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ 225 กับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง คงลงโทษได้ตาม ป.อ. มาตรา 157 ซึ่งเป็นบทความผิดทั่วไปเท่านั้น

___________________________

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 149, 157

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 จำคุก 5 ปี คำให้การชั้นไต่สวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 จำคุก 1 ปี เมื่อลดโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 8 เดือน ยกฟ้องข้อหาเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยรับราชการตำรวจ ตำแหน่งผู้บังคับหมู่งานป้องกันและปราบปราม สถานีตำรวจภูธรแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ปฏิบัติหน้าที่ชุดปฏิบัติการด้านความมั่นคงตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ มีหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิด ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลย ดาบตำรวจจรัส และจ่าสิบตำรวจสังวรณ์ เจ้าพนักงานตำรวจชุดปฏิบัติการด้านความมั่นคงตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับแจ้งว่ามีการลักลอบเล่นการพนักงานไฮโลบริเวณที่จัดงานศพนายบุตร จึงเดินทางไปที่บริเวณดังกล่าวแล้วควบคุมตัวนายสุเทพ พร้อมกับยึดแผงเล่นการพนันไฮโลได้ในที่เกิดเหตุ นายสุเทพอ้างว่าไม่ได้ร่วมเล่นการพนันด้วย จากนั้นดาบตำรวจจรัสและจำเลยกับพวกคุมตัวนายสุเทพขึ้นรถกระบะโดยมีชายไม่ทราบชื่อนั่งประกบนายสุเทพที่ห้องโดยสารด้านหลัง จำเลยนั่งด้านหน้าคู่กับดาบตำรวจจรัสซึ่งเป็นคนขับ ดาบตำรวจจรัสขับรถไปที่ตลาดนัดโดยมีจ่าสิบตำรวจสังวรขับรถเก๋งตามไป เมื่อไปถึงตลาดนัดดังกล่าว ดาบตำรวจจรัสกับนายสุเทพลงจากรถไปพูดคุยกันตามลำพัง ดาบตำรวจจรัสเรียกรับเงินจากนายสุเทพ 3,000 บาท แล้วปล่อยตัวนายสุเทพไป

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ตามฟ้องโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความจากการไต่สวนว่า ก่อนเกิดเหตุ จำเลย ดาบตำรวจจรัสและจ่าสิบตำรวจสังวรณ์ ร่วมกันเดินทางไปที่เกิดเหตุเพื่อจะจับกุมผู้ลักลอบเล่นการพนันตามที่ได้รับแจ้ง เมื่อไปถึงจ่าสิบตำรวจสังวร เข้าจับกุมนายสุเทพ แล้วดาบตำรวจจรัสขับรถพาจำเลยกับพวกและนายสุเทพไปที่ตลาดนัดทุ่งฟ้าบดโดยไม่ส่งตัวนายสุเทพให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี จำเลยซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ตอนนี้ด้วยไม่ได้ทักท้วงการกระทำของดาบตำรวจจรัสแต่อย่างใด แต่กลับนั่งรถไปที่ตลาดนัดกับดาบตำรวจจรัสจนกระทั่งดาบตำรวจจรัสเรียกรับเงินจากนายสุเทพแล้วปล่อยตัวนายสุเทพไป ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวจำเลยก็ไม่ได้ทักท้วงห้ามปรามอีกเช่นกัน กรณีจึงเห็นได้ว่าเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยอย่างยิ่งที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายจะประพฤติตนเยี่ยงนั้นหากไม่มีส่วนร่วมรู้เห็นกับการกระทำของดาบตำรวจจรัสด้วย ประกอบกับพฤติการณ์ที่ดาบตำรวจจรัสเรียกรับเงินจากนายสุเทพในขณะที่จำเลยกับพวกอยู่บริเวณใกล้เคียง ก็เป็นเครื่องบ่งชี้ประการหนึ่งว่าจำเลยรู้เห็นในการกระทำของดาบตำรวจจรัสในลักษณะร่วมมือกับดาบตำรวจจรัส เพราะมิฉะนั้นดาบตำรวจจรัสก็คงไม่กล้ากระทำการเช่นนั้น ดังนี้ แม้จำเลยจะไม่อยู่ในเหตุการณ์ที่ดาบตำรวจจรัสเรียกรับเงินนายสุเทพ แต่พฤติการณ์ที่จำเลยแสดงออกมาตามลำดับดังกล่าว เพียงพอที่จะรับฟังได้แล้วว่าจำเลยร่วมกับดาบตำรวจจรัสเรียกรับเงินจากนายสุเทพด้วย

อย่างไรก็ตามการที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายกฎหมายอาญา มาตรา 149 นั้น จะต้องได้ความว่าจ่าสิบตำรวจสังวรณ์จับกุมนายสุเทพโดยชอบ กล่าวคือจับกุมในขณะที่นายสุเทพกำลังเล่นการพนันแล้วหลังจากนั้นจึงเรียกรับเงินจากนายสุเทพเพื่อที่จะไม่ดำเนินคดี แต่คดีนี้นายสุเทพให้การปฏิเสธมาโดยตลอดว่าขณะถูกจับกุมไม่ได้เล่นการพนัน หากแต่นั่งรับประทานก๋วยเตี๋ยวอยู่ใกล้กับที่เกิดเหตุ ซึ่งข้อเท็จจริงว่านายสุเทพเล่นการพนันอยู่หรือไม่นี้อยู่ความรู้เห็นของจ่าสิบตำรวจสังวรณ์ผู้จับกุม แต่โจทก์ไม่นำจ่าสิบตำรวจสังวรมาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว นอกจากนี้ยังปรากฏจากบันทึกการตรวจยึดทรัพย์สินและรายงานประจำวันธุรการว่า จำเลยกับพวกไม่พบการเล่นพนันไฮโลในที่เกิดเหตุ คงพบแต่แผงเล่นการพนันไฮโลวางทิ้งไว้ ยิ่งเป็นข้อสนับสนุนว่า ขณะถูกจับนายสุเทพไม่ได้เล่นการพนัน ดังนั้น พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาจึงยังฟังไม่ได้ว่าจ่าสิบตำรวจสังวรณ์จับกุมนายสุเทพในขณะที่นายสุเทพกำลังเล่นการพนัน การจับกุมของจ่าสิบตำรวจสังวรณ์จึงเป็นการจับกุมโดยมิชอบ เช่นนี้แม้ภายหลังจะมีการเรียกรับเงินจากนายสุเทพ การกระทำของจำเลยกับพวกก็ไม่อาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ได้ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น การกระทำดังกล่าวของจำเลยกับพวกคงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 ฐานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น แต่เนื่องจากโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวมาด้วย ศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษจำเลยได้ เพราะเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบและมาตรา 215 และ 225 กับพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง คงลงโทษได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) ซึ่งเป็นบทความผิดทั่วไปเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล

พิพากษายืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4594/2565

ป.อ. มาตรา 148

ป.อ. มาตรา 148 บัญญัติว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น...” นั้น การข่มขืนใจหรือจูงใจต้องเป็นการกระทำต่อบุคคลอื่นมิใช่ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน เมื่อ ธ. เป็นผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดกับจําเลย จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการข่มขืนใจหรือจูงใจบุคคลอื่นเพื่อให้มอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น การกระทำของจําเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว

___________________________

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 157

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) ลงโทษจำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำนวนเงินที่จำเลยทุจริตไม่มาก จำเลยไม่มีประวัติว่าเคยกระทำความผิดมาก่อนและจำเลยถูกให้ออกจากราชการซึ่งเป็นผลร้ายแก่จำเลย ผลร้ายดังกล่าวเพียงพอกับความผิดของจำเลยแล้ว จึงให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยดำรงตำแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล ท. ต่อมาเดือนตุลาคม 2552 องค์การบริหารส่วนตำบล ท. ได้รับการยกฐานะเป็นเทศบาลตำบล ท. ในปีงบประมาณ 2550 ขณะที่เทศบาลตำบล ท. ยังเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล ท. ได้จัดทำโครงการฝึกอบรมอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) โดยนายวัชรพล เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน สังกัดสำนักงานปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล ท. เป็นผู้เสนอโครงการ จำเลยเป็นผู้เห็นชอบโครงการ และนายอานนท์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ท. ในขณะนั้นเป็นผู้อนุมัติโครงการ กำหนดการอบรมระหว่างวันที่ 27 ถึง 31 สิงหาคม 2550 ณ กรมทหารราบที่ 7 มีผู้เข้ารับการอบรมซึ่งเป็นสมาชิก อปพร. ตำบล ท. จำนวน 13 หมู่บ้าน รวม 80 คน โดยใช้เงินนอกงบประมาณ คือเงินสะสมและเงินงบประมาณในหมวดค่าตอบแทนใช้สอยรวมจำนวน 406,000 บาท เป็นค่าดำเนินการในโครงการดังกล่าว ได้แก่ ค่าตอบแทนวิทยากร ค่าอุปกรณ์ดับเพลิง ค่ากระโดดหอ ค่าชุด ค่าอาหารว่าง ค่าเครื่องเสียง ค่าเครื่องเขียน ค่าคู่มือ ค่าใบประกาศ ค่าน้ำมัน ค่าจ้างเหมาทำป้าย ค่าดอกไม้ และค่ารถรับส่งผู้เข้ารับการฝึกอบรมในวันที่ 27 สิงหาคม 2550 จากองค์การบริหารส่วนตำบล ท. ไปยังกรมทหารราบที่ 7 เพื่อเข้ารับการฝึกอบรมเฉพาะขาไป ในวันที่ 29 สิงหาคม 2550 จากกรมทหารราบที่ 7 ไปอ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่าเพื่อกระโดดหอสูงทดสอบกำลังใจ ทั้งขาไปและขากลับ และในวันที่ 31 สิงหาคม 2550 จากกรมทหารราบที่ 7 กลับองค์การบริหารส่วนตำบล ท. เฉพาะขากลับด้วย จำนวน 2 คัน คันละ 8,000 บาท รวมเป็นเงิน 16,000 บาท ตามบันทึกข้อความขออนุมัติดำเนินโครงการและประมาณค่าใช้จ่าย ต่อมามีการฝึกอบรมตามกำหนดวันเวลาดังกล่าว ในส่วนของการเช่ารถรับส่งผู้เข้ารับการฝึกอบรมนั้น องค์การบริหารส่วนตำบล ท. โดยนายอานนท์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ท. ทำบันทึกตกลงจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. โดยนางสาวธิดารัตน์ หุ้นส่วนผู้จัดการ และมีคำสั่งแต่งตั้งนายวัชรพล นางสาวพรรณี นักพัฒนาชุมชน และนางสาวพิทยาภรณ์ นักวิชาการประชาสัมพันธ์ เป็นคณะกรรมการตรวจรับการจัดซื้อจัดจ้าง ตามคำสั่งองค์การบริหารส่วนตำบล ท. ที่ 333/2550 ต่อมามีการเบิกค่ารถดังกล่าวจำนวน 15,840 บาท (หักภาษี 160 บาท) ให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. ซึ่งเป็นผู้รับจ้างไป ตามฎีกาเบิกเงินนอกงบประมาณรายจ่าย ต่อมาวันที่ 16 มิถุนายน 2552 มีผู้ร้องเรียนนายอานนท์และจำเลยต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าทุจริตเงินค่าจ้างรถดังกล่าวมีการนำชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. มาเป็นผู้รับจ้าง แต่ในความเป็นจริงได้รับความอนุเคราะห์รถรับส่งจากกรมทหารราบที่ 7 ตามหนังสือร้องเรียน คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งพนักงานไต่สวนข้อเท็จจริง แล้วมีมติเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2550 ว่า จากการไต่สวนไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่า นายอานนท์กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา ส่วนจำเลยมีมูลความผิดตามข้อกล่าวหา จำเลยจึงถูกดำเนินคดีเป็นคดีนี้

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าอุทธรณ์ของโจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 ด้วยนั้น เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 43 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ ชอบหรือไม่ เห็นว่า ข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 นั้น โจทก์กล่าวอ้างข้อเท็จจริงมาในคำฟ้องว่า จำเลยใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจหรือจูงใจ นางสาวธิดารัตน์ หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. ว่า องค์การบริหารส่วนตำบล ท. ต้องการจ้างรถโดยสารขนาด 40 ที่นั่ง เพื่อใช้ในโครงการฝึกอบรมอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) จำนวน 1 คัน ราคา 8,000 บาท แต่ขอให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวทำสัญญากับองค์การบริหารส่วนตำบล ท. ว่ามีการจ้างรถโดยสารขนาดดังกล่าวจำนวน 2 คัน รวมเป็นเงิน 16,000 บาท โดยให้ทำหลักฐานการส่งมอบพร้อมทั้งออกใบเสร็จรับเงินเป็นการจ้างรถโดยสารขนาดดังกล่าวจำนวน 2 คัน แล้วให้นำเงินค่าจ้างส่วนต่างที่เบิกมาจำนวน 8,000 บาท มามอบให้จำเลย นางสาวธิดารัตน์ตกลงตามที่จำเลยเสนอเข้าทำสัญญาจ้าง ทำเอกสารส่งมอบงานและออกใบเสร็จรับเงินค่าจ้างเป็นการจ้างรถโดยสารจำนวน 2 คัน ราคา 16,000 บาท แล้วนำเงินส่วนต่างไปมอบให้แก่จำเลยตามที่จำเลยเรียกรับ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ แต่ศาลชั้นต้นพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์ประกอบสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว วินิจฉัยว่า ไม่มีการจ้างรถโดยสารมารับส่งผู้เข้ารับการฝึกอบรมอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) แต่จำเลยดำเนินการให้ปรากฏหลักฐานว่ามีการจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. นำรถโดยสารมารับส่งผู้เข้ารับการฝึกอบรม จำนวน 4 เที่ยว แล้วเบิกเงินค่าจ้างจำนวน 16,000 บาท ไปเป็นประโยชน์ของจำเลยกับพวก โดยนางสาวธิดารัตน์มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนดังกล่าว แม้แตกต่างจากที่โจทก์ฟ้อง แต่จำเลยไม่หลงต่อสู้เพราะจำเลยต่อสู้ว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ ดังนั้น จะมีรถหรือไม่ หรือมีกี่คันก็เป็นความผิดทั้งสิ้น ข้อแตกต่างดังกล่าวจึงมิใช่สาระสำคัญ ศาลลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง การที่จำเลยใช้อำนาจในตำแหน่งแสวงหาประโยชน์ จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 แต่การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 ตามฟ้องโจทก์ เพราะการที่จะเป็นความผิดฐานนี้ผู้ถูกข่มขืนใจหรือจูงใจต้องมิใช่ผู้ร่วมกระทำความผิดหรือสนับสนุนการกระทำความผิดของเจ้าพนักงานด้วย จากเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยดังกล่าว ศาลชั้นต้นมิได้รับฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องและนำพยานเข้าไต่สวนในชั้นการพิจารณาของศาลว่าจำเลยใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบข่มขืนใจหรือจูงใจนางสาวธิดารัตน์ ให้ทำเอกสารหรือหลักฐานการรับจ้างรถโดยสาร 2 คัน มาส่งมอบแล้วนำหลักฐานนั้นมาทำการเบิกจนได้รับส่วนต่าง แล้วนำเงินส่วนต่างมามอบให้แต่อย่างใด แต่รับฟังได้ว่า จำเลยได้ร่วมกับนางสาวธิดารัตน์ดำเนินการให้ปรากฏหลักฐานว่ามีการจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. นำรถโดยสารมารับส่งผู้เข้ารับการฝึกอบรม จำนวน 4 เที่ยว แล้วเบิกเงินค่าจ้างจำนวน 16,000 บาท ไปเป็นประโยชน์ของจำเลยกับพวก จึงไม่มีการข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น เนื่องจากนางสาวธิดารัตน์มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดกับจำเลย การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงแตกต่างไปจากที่โจทก์ฟ้องและนำพยานเข้าไต่สวนในชั้นพิจารณาของศาล แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่า ศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงไม่ถูกต้องอย่างไรที่ถูกควรเป็นอย่างไร แต่กลับอุทธรณ์ว่า ข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยดังกล่าวเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 แล้ว เพราะผู้ถูกข่มขืนใจไม่จำเป็นว่าจะต้องมีส่วนร่วมกระทำความผิดหรือสนับสนุนการกระทำความผิดด้วยหรือไม่ อุทธรณ์ของโจทก์เพียงแต่ไม่โต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นรับฟังมา แต่อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่า ข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นรับฟังมานั้น การกระทำของจำเลยก็ยังคงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 อยู่นั่นเอง จึงเป็นอุทธรณ์ที่ชัดแจ้ง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าอุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 43 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์การรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ไปเสียทีเดียว เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 บัญญัติว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น...” นั้น การข่มขืนใจหรือจูงใจต้องเป็นการกระทำต่อบุคคลอื่นมิใช่ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน เมื่อนางสาวธิดารัตน์เป็นผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลย จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการข่มขืนใจหรือจูงใจบุคคลอื่นเพื่อให้มอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษ นั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้เหตุผลเหมาะสมตามควรแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ฎีกาของโจทก์ในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น

 

พิพากษายืน


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อาวุธ ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา

การรับมรดกความในคดีอาญา

หลักการแปลงหนี้ใหม่