ข้อเท็จจริงในคดีอาญาส่งผลต่อคดีแพ่งอย่างไร

ข้อเท็จจริงคดีอาญาผูกพันคดีแพ่ง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46

คำพิพากษาฎีกาที่ 4410/2554
ข้อเท็จจริง
1. อัยการโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2548 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยทั้งสามกับพวกซึ่งหลบหนีไม่ได้ตัวมาฟ้องร่วมกันวางแผนและเตรียมไม้ ขวดสุรา และก้อนอิฐเป็นอาวุธ แล้วร่วมกันใช้ไม้ ขวดสุราและก้อนอิฐเป็นอาวุธทุบตี และชกต่อยร่างกายนายนิกรผู้ตายหลายครั้งโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ผู้ตายถูกทำร้ายที่บริเวณศีรษะ ขมับด้านซ้าย ใบหูซ้าย ริมฝีปากล่าง ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญทำให้เลือดออกทางรูหูทั้งสองข้าง กระโหลกส่วนกลางแตก กระโหลกท้ายทอยแตกร้าว เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 290

1.1 ในทางปฏิบัติเมื่ออัยการโจทก์ยื่นฟ้องจะต้องส่งตัวจำเลยมาพร้อมกับคำฟ้อง ศาลก็จะสั่งในคำฟ้องของอัยการทำนองว่า “ประทับฟ้อง หมายขัง เรียกสอบปากคำจำเลย” แต่หากจำเลยได้รับการประกันตัวระหว่างสอบสวนโดยศาลเป็นผู้อนุญาตให้ประกันตัวไปซึ่งอัยการจะยื่นฟ้องโดยไม่นำตัวจำเลยมาพร้อมกับคำฟ้องได้ กรณีเช่นนี้ ศาลจะสั่งคำฟ้องของอัยการทำนองว่า “ประทับฟ้อง หมายนัด ผู้ประกันส่งตัวจำเลย” ฯลฯ

1.2 เมื่อศาลประทับฟ้องของอัยการแล้ว ศาลจะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปโดยจะเบิกตัวจำเลยมาสอบคำให้การในชั้นนี้ศาลจะดำเนินการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 ก่อน คือ สอบถามเรื่องทนายจำเลย จากนั้นศาลก็จะอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 สำหรับคดีนี้ เมื่อศาลดำเนินการดังกล่าวแล้วได้สอบถามจำเลยว่าจะให้การอย่างไร ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ หลังจากนั้น ในทางปฏิบัติศาลอาจนัดตรวจพยานหลักฐานโจทก์และจำเลยหรือจะนัดสืบพยานโจทก์หรือจำเลยก็ได้แล้วแต่เหตุผลของแต่ละคดี

2. ระหว่างพิจารณา นางเพ็ชรแก้ว มารดานายนิกรผู้ตายซึ่งเป็นผู้เสียหายยื่นคำร้องขอให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะให้แก่ผู้ร้องและบุตรของผู้ตายรวมจำนวน 600,000 บาท

2.1 คำร้องตามข้อ 2 มารดาผู้ตายใช้สิทธิตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ซึ่งหากเป็นคดีที่มีการสืบพยานผู้เสียหายต้องยื่นคำร้องดังกล่าวก่อนสืบพยานและตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคสอง ให้ถือว่าคำร้องของผู้เสียหายเป็นคำร้องตาม ป.วิ.พ.

2.2 ในทางปฏิบัติศาลจะสั่งคำร้องทำนองว่า “ รับคำร้อง สำเนาให้โจทก์และจำเลย นัดพร้อมผู้ร้องและจำเลยเพื่อประนอมข้อพิพาทในวันที่ …หากจำเลยประสงค์จะให้การก็ให้ยื่นเป็นหนังสือหรือแถลงต่อศาลก่อนหรือในวันนัดดังกล่าว”

2.3 การยื่นคำให้การคดีส่วนแพ่ง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/2 ไม่มีกำหนดเวลาแน่นอนและจำเลยไม่ต้องยื่นคำให้การภายใน 15 วัน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 และไม่อาจนำเรื่องการขาดนัดยื่นคำให้การมาใช้ได้

3. จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธและขอให้ยกคำร้องในคดีส่วนแพ่ง

4. ศาลชั้นต้นได้สืบพยานโจทก์และจำเลยแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290, 83 จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 8 ปี จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกคนละ 5 ปี 4 เดือน ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหม่ทดแทนแก่ผู้ร้องเป็นเงิน 370,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3

5. จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ลงโทษจำคุกคนละ 6 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกคนละ 4 ปี นอกจากที่แก้ไขให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 จึงฎีกา

5.1 จำเลยฎีกาว่าไม่ได้กระทำความผิดซึ่งเป็นข้อเท็จจริง คดีจึงมาสู่ศาลฎีกาในประเด็นนี้ว่า จำเลยสามารถฎีกาได้หรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ ในคดีส่วนอาญาศาลอุทธรณ์ภาค 5 แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะกำหนดโทษและเพียงแต่ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ถูกต้องโดยระบุวรรคของมาตรา 290 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและบทบัญญัติที่อ้างอิงประกอบภายในวงเล็บ (โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคสอง ประกอบมาตรา 289 (4), 83) ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์แก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเล็กน้อยและยังคงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า พยานโจทก์ยังมีเหตุระแวงสงสัยและไม่มีพยานโจทก์ปากใดชี้ชัดว่า จำเลยที่ 1 เข้าร่วมทำร้ายผู้ตาย พยานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 นั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ในคดีส่วนอาญานั้นเป็นการมิชอบ

5.2 ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาในคดีส่วนแพ่งว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำผิดตามฟ้องจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ป.วิ.อ. มาตรา 46 บัญญัติว่า “ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา” เมื่อคดีส่วนอาญาต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงในคดีอาญาจึงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกทำร้ายผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายตามฟ้อง คดีส่วนแพ่งย่อมต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้อง

สรุป...

ข้อเท็จจริงในคำพิพากษาคดีอาญา จะผูกพันข้อเท็จจริงในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ก็ต่อเมื่อ
(1) คำพิพากษาคดีอาญาต้องถึงที่สุด
(2) เป็นข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาและคำพิพากษาคดีอาญาจะต้องวินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้ง
(3) ผู้ที่จะถูกข้อเท็จจริงมาผูกพันในคดีแพ่งนั้น ต้องเป็นคู่ความในคดีอาญา

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อาวุธ ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา

การรับมรดกความในคดีอาญา

หลักการแปลงหนี้ใหม่